ถนนสุโขทัย 20 มี.ค.-บอร์ด กอปศ.ยึดหลักการร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย พ.ศ….ห้ามสอบคัดเลือกเด็กป.1 หลังเกิดปัญหาติวเตอร์เเห่เปิดสอนคอร์สเข้าป.1 โรงเรียนดัง ย้ำเด็กต้องได้รับการดูเเลเเละพัฒนาตามวัยเเละตามความต้องการ
น.ส.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 12/2561 ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการปฐมวัยแห่งชาติ พ.ศ….ซึ่งร่างพระราชบัญญัติครั้งนี้มีสาระสำคัญต่างจากเดิมในหลายประเด็น อาทิ ช่วงอายุของเด็กปฐมวัยที่กำหนดให้ดูเเลตั้งเเต่ปฏิสนธิจนถึง 8 ปี ,การกำหนดคำนิยามใหม่ทั้งการดูเเล การพัฒนาเเละการจัดการเรียนรู้ ,การเชื่อมโยงการเรียนของเด็กชั้นอนุบาล1-3 เเละชั้นประถมศึกษาปีที่1-2, การบูรณาการการทำงานของ 4 กระทรวงหลักที่ร่วมกับขับเคลื่อนการทำงาน ได้เเก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์เเละกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งที่ประชุมได้นำมาปรับเเก้ หลังลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ โดยทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า การลงทุนการศึกษาในช่วงปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเเละจำเป็น ให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีตามวัยเ เละตามความต้องการ ได้ซึมซับสุนทรียภาพเเละมีจิตสำนึกการเป็นพลเมืองที่ดี รัฐจึงต้องสนับสนุนส่งเสริม ซึ่งนอกจาก 4 กระทรวงเเล้ว องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูเเลเเละพัฒนาเด็ก
น.ส.ดารณี กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสังคมมีการพูดถึงเเละกังวลที่มีการติวเตอร์เข้าศึกษาต่อชั้น ป.1 จึงมีมาตรา 31 ในร่างพระราชบัญญัติการปฐมวัย พ.ศ….กำหนดไว้ว่าเพื่อเป็นการปกป้องพัฒนาการของเด็กปฐมวัยห้ามมิให้สถานศึกษา ตามกฏหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและโรงเรียนตามกฏหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนรับเด็กประถมวัยเข้าศึกษา โดยใช้วิธีการสอบคัดเลือกหรือทดสอบสมรรถนะคุณลักษณะ ความรู้หรือความสามารถอื่นใดของเด็กปฐมวัย รวมถึงการฝากเด็กปฐมวัยเข้าเรียนในสถานศึกษาด้วย
เเต่อย่างไรก็ตามมีข้อเสนอว่าห้ามสอบ เว้นเเต่การสอบเป็นไปตามหลักเกณฑ์เเละเงื่อนไขที่สำนักนโยบายกำหนด เพราะตระหนักดีว่าการสอบเข้าป.1 เป็นช่วงรอยต่อระหว่างชั้นอนุบาลเเละชั้นประถม ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการยืดหยุ่นมาก เด็กต่างกัน หากมีการสอบคัดเด็กมีผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในชั้นอนุบาลเเทนที่เด็กจะได้มีเวลาเรียนรู้อย่างอื่น จึงควรจะปกป้องคุ้มครองเด็กในช่วงเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น รวมถึงต้องปรับทัศนคติของพ่อเเม่เเละคนในสังคม ที่ประชุมจึงยึดในหลักการว่าไม่มีการสอบคัดเลือก
ส่วนจะเป็นการสอบสมรรถนะหรือด้านอื่นขึ้นอยู่กับเกณฑ์ตามที่สำนักนโยบายกำหนด ซึ่งยังต้องมีการปรับเเก้ในประเด็นดังกล่าวอยู่ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน โดยมีการเสนอให้นำคณะกรรมการนโยบายเด็กรวมกับคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เเห่งชาติ เพื่อง่ายต่อการยกร่างพระราชบัญญัติหรือพิจารณากฎหมาย เเละการทำงานจะได้ไม่ทับซ้อนกัน
ซึ่งข้อเสนอเเนะเเละประเด็นต่างๆคณะกรรมการต้องนำมาปรับเเก้ เเละจะลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนเเละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้งก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สรุปประเด็นรับฟังความคิดเห็นการประชุมเพื่อยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเเห่งชาติฉบับใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาใน 5 ประเด็นได้เเก่
แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทักษะการดำรงชีวิต,
แนวทางการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย อาศัยกลไกทุกภาคส่วน,
แนวทางการจัดการศึกษาทางเลือก,
แนวทางการวัดและประเมินผลการจัดการศึกษา
และแนวทางการสร้างความเข้มแข็งให้สถานศึกษา
ซึ่งทุกภาคส่วนในด้านการศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต การศึกษาตามอัธยาศัยเเละการศึกษาทางเลือก ต้องกำหนดคำนิยามหรือความต้องการ รวมถึงหน่วยงานที่ดูเเลอย่างชัดเจน เพราะเดิมทีทำงานซ้ำซ้อน ซึ่งเมื่อมองเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ การศึกษาเพื่อการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขเเละตามความถนัดของผู้เรียน ไม่มุ่งใบปริญญาเเต่มุ่งสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต เเละต้องเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานกำกับดูเเลที่ไม่ใช่เป็นการควบคุม เเต่ต้องสร้างศรัทธาให้กับผู้เรียนเเละผู้สอนว่าสามารถเรียนได้ด้วยตนเองเเละสอนตามความต้องการของเด็ก ,ต้องมีกลไกในการเทียบโอนความรู้ วุฒิเเละประสบการณ์เเละการปฏิรูปต้องสร้างความเข้มเเข็งให้สถานศึกษา รัฐเเค่สนับสนุนเเต่ต้องปล่อยให้โรงเรียนคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ครูได้สอนเต็มที่ ลดงานธุรการออกไป
ส่วนการประเมินผลเน้นระดับห้องเรียนเเละสภาพการเรียนที่เเท้จริง การสอบNT หรือ O-NET อาจเป็นตัวประกอบไม่ใช่ตัวหลัก รวมถึงการศึกษาทางเลือกต้องมีความยืดหยุ่นด้านหลักสูตร วิธีการเรียนการสอนเเละการประเมินด้วย ซึ่งความคิดเห็นทั้งหมดคณะอนุกรรมการจะนำไปประกอบร่างพระราชบัญญัติการศึกษาเเห่งชาติ ซึ่งคาดว่าร่างพ.ร.บ.จะเเล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป .-สำนักข่าวไทย