กรุงเทพฯ 20 มี.ค. – กรมชลฯ ยืนยันแล้งนี้มีน้ำพอใช้ แต่ต้องช่วยกันประหยัด สำรองน้ำไว้ใช้ในอนาคต พร้อมเตรียมแผนรับมือฤดูฝนปี 61
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา วันนี้ (20 มี.ค.) มีปริมาณน้ำรวมกัน 15,764 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวม 9,068 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งหมด
ทั้งนี้ ในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 กรมชลประทานวางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวม 14,187 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้ง (1 พ.ย. 60 – 30 เม.ย. 61) 7,700 ล้าน ลบ.ม. (อีก 6,487 ล้าน ลบ.ม. จะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือน พ.ค. – ก.ค. 61) ผลการจัดสรรน้ำตั้งแต่ 1 พ.ย. 60 จนถึงปัจจุบัน (20 มี.ค. 61) มีการใช้น้ำไปแล้วรวม 6,549 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85 ของแผนจัดสรรน้ำฯ คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้ถึงสิ้นเดือน เม.ย. 61 ประมาณ 1,150 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะในส่วนของการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งจัดสรรไว้ 5,110 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันใช้น้ำไปแล้ว 4,600 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 90 ของแผนจัดสรรน้ำฯเพื่อการเกษตร คงเหลือปริมาณน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรตามแผนฯ จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 61 อีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2560/2561 ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ข้อมูล ณ 14 มี.ค. 61) มีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.89 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 113 ของแผนฯ (แผน 5.23 ล้านไร่) เฉพาะข้าวนาปรังมีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.83 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 113 ของแผนฯ (แผน 5.17 ล้านไร่) เก็บเกี่ยวไปแล้ว 0.46 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 ปริมาณน้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อนหลักจะอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถจัดสรรน้ำ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมได้อย่างเพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้ แต่ยังคงต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำตามแผนที่ได้จัดสรรไว้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตอย่างไม่ขาดแคลน
สำหรับการเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 2561 ขณะนี้กรมชลประทานเริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทานให้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 61 เป็นต้นมา เพื่อให้เกษตรกรเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวรอบที่ 1 (นาปี) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 61 ซึ่งปีนี้ทุ่งบางระกำมีพื้นที่รับน้ำมากขึ้นเป็น 383,000 ไร่ (จากเดิม 265,000 ไร่) สามารถรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากได้เพิ่มขึ้นเป็น 550 ล้าน ลบ.ม. (จากเดิม 400 ล้าน ลบ.ม.) สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทั้ง 12 ทุ่ง พื้นที่รวม 1.15 ล้านไร่ จะเริ่มส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 61 เพื่อให้เกษตรกรเริ่มทำนารอบที่ 1 (นาปี)ตั้งแต่ 1 พ.ค. 61 ส่วนพื้นที่ดอนและพื้นที่อื่น ๆ ทั้งประเทศให้เริ่มเพาะปลูกเมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน โดยให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน.-สำนักข่าวไทย