กรุงเทพฯ 19 มี.ค. – ชาวบ้านเทพายืนยันจะเคลื่อนไหวต่อ เพื่อให้เกิดการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เชื่อคณะกรรมการ SEA มีธงไม่เอาโรงไฟฟ้า ชี้โรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ด้าน พพ.จ้าง ม.ศิลปากร ศึกษาศักยภาพวัตถุดิบคาดอาจเพียงพอ ใช้รูปแบบโรงไฟฟ้าประชารัฐ
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ตามนโยบายของนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะทดแทนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-กระบี่ ว่า พพ.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยศิลปากรศึกษาศักยภาพโรงไฟฟ้าชีวมวลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้รับรายงานผลสรุปเบื้องต้นทั้งในเรื่องของสถานที่ตั้งที่เหมาะสม และปริมาณเชื้อเพลิงที่สามารถป้อนโรงไฟฟ้าให้ได้ตามสัดส่วนของขนาดโรงไฟฟ้า เบื้องต้นพบว่ามีตัวเลขด้านศักยภาพวัตถุดิบ เศษไม้ยางพารา และต้นยางพารา ที่จะสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง จากที่เคยได้รับรายงานในรอบที่ผ่านมา
โดยจะใช้แนวทาง โรงไฟฟ้าประชารัฐ ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงไฟฟ้า และชุมชนได้รับผลประโยชน์จากเงินกองทุนรอบโรงไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนของร้อยละ 10 ของผลกำไร อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายเชื้อเพลิงเข้าโรงไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง
“พพ.ได้หารือกับผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาแล้วหนึ่งรอบ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นพบว่ามีตัวเลขด้านศักยภาพวัตถุดิบ เศษไม้ยางพารา และต้นยางพารา ที่จะสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง จากที่เคยได้รับรายงานรอบที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อสรุปให้เป็นแผนชัดเจนต่อไป” นายประพนธ์ กล่าว
นายหลี สาเมาะ ประธานกลุ่มคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กล่าวว่า ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์จะเพียงพอ หรือไม่แล้ว ก็ขอฝากถามว่าต้องตัดไม้ตัดยางพารากี่ร้อยต้น ทำลายทรัพยากรมากน้อยเพียงใด ที่สำคัญโรงไฟฟ้าชีวมวลก็จำเป็นต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ยิ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก การดูแลสิ่งแวดล้อมจะดีเท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา จากการไปดูงานทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศและต่างประเทศ ต่างมีการยกระดับเทคโนโลยีป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมจนน้อยมาก จนชาวบ้านให้การยอมรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน และหวังว่ารัฐบาลจะเดินหน้าแผนก่อสร้าง เพราะเราหวังจะสร้างความเจริญ ลูกหลานจะได้มีงานทำ และชาวบ้านก็ไม่เชื่อว่า คณะกรรมการศึกษาประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่ศึกษา SEA ที่กระทรวงพลังงานตั้งขึ้นใช้เวลาศึกษา 9 เดือน จะทำงานโดยรับฟังเสียงชาวบ้าน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเห็นชัดว่าคณะกรรมการฯ คงไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างแน่นอน นับจากนี้ไปการเคลื่อนไหวของชุมชนจะเน้นเรื่องการชุมนุมเคลื่อนไหวในพื้นที่ จังหวัดสงขลาเป็นหลัก
“เราสนับสนุนให้รัฐบาลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นการสร้างความมั่นคงแก่ประเทศ สร้างงานให้ลูกหลาน แก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งโรงไฟฟ้าไปที่ไหนก็มีแต่คนไล่ ไม่ให้สร้าง แต่ที่นี่อยากให้สร้าง คนส่วนใหญ่ในพื้นที่สนับสนุน แต่แปลกใจทำไมรัฐบาลไม่เอา ไปรอฟังคำตอบก็ไม่มีคำตอบให้ แต่กลุ่มเอ็นจีโอที่ชุมนุมคัดค้านก่อสร้าง ชุมนุมไม่กี่คน แต่ รมว.พลังงาน ไปหาถึงที่ชุมนุม และลงนามข้อตกลงเอ็มโอยูชะลอโครงการ ซึ่งไม่มีใครทำกัน ก็อยากถามว่าต้องการเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นก๊าซฯ ใช่หรือไม่ ทำเพื่ออะไร” นายหลี กล่าว. -สำนักข่าวไทย