กรุงเทพฯ 14 มี.ค. – มาเลเซีย อินโดนีเซีย ชักชวนไทย ร่วมคัดค้านอียูที่มีข้อเสนอยกเลิกการใช้ปาล์มผลิตไบโอดีเซลในปี 2564 หวั่นทำราคาตกต่ำ ขณะที่วันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) กระทรวงพลังงาน-คมนาคมควงคู่เริ่มทดสอบบี 10 ในรถไฟ
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งหนังสือมายังกรมฯ เพื่อขอให้รวบรวมและวิเคราะห์ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากน้ำมันปาล์ม หลังจากมาเลเซียและอินโดนีเซียทำหนังสือถึงไทยให้ร่วมกันคัดค้าน กรณีที่สมาชิกรัฐสภาอียูส่วนใหญ่โหวตเพื่อแก้ไขร่างกฎหมายพลังงานทดแทนที่ให้ลดสัดส่วนเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) และเชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากน้ำมันปาล์มให้เป็นศูนย์ในปี 2564 เพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อราคาผลปาล์มในอนาคต ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ของกรมฯ อยู่ระหว่างการรวบรวมและวิเคราะห์ คาดว่าจะสรุปได้ภายใน 1-2 เดือนนี้
นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ในส่วนของน้ำมันไบโอดีเซลของไทยนั้น เป็นการดำเนินการที่ช่วยสนับสนุนเกษตรกรไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถช่วยเหลือด้านราคาปาล์มได้ทั้งหมด โดยขณะนี้มีข้อเรียกร้องให้เพิ่มส่วนผสมจากร้อยละ 7 (บี 7 ) เป็นร้อยละ 10 (บี 10) ซึ่งต้องดูรายละเอียดทั้งหมดว่าดำเนินการแล้ว มีผลกระทบและผลดีอย่างไรบ้าง โดยต้องยอมรับว่าหากเป็นบี 10 ราคาไบโอดีเซลต้องแพงขึ้น เพราะเงินอุดหนุนต้องเพิ่ม ขณะเดียวกันการใช้ส่วนผสมที่เพิ่มขึ้นจากบี 7 ก็จะมีผลต่อเครื่องยนต์ เพราะหากอากาศหนาวเย็น เช่น การใช้ในภาคเหนือก็จะส่งผลน้ำมันหนืดขึ้น ดังนั้น ค่ายรถยนต์จึงไม่เห็นด้วยหากปรับสูตรน้ำมันมาตรฐานจากบี 7 เป็นบี 10
อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลได้ร่วมกันทดสอบบี 10 กับรถไฟ ว่าจะใช้ได้หรือไม่ โดยวันพรุ่งนี้ (15 มี.ค.) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะร่วมติดตามการทดสอบในจังหวัดสมุทรสาคร จากสถานีรถไฟบ้านแหลมถึงสถานีรถไฟแม่กลอง
นายกฤษดา เชาวนะนันท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มาตรการของอียูต้องติดตามใกล้ชิด เพราะระยะสั้นอาจจะมีผลทางจิตวิทยาที่อาจกระทบต่อราคาปาล์มตลาดโลกลดลง
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า อียูใช้น้ำมันปาล์มแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพกว่า 3 ล้านตัน หากยกเลิกจะกระทบต่อผู้ส่งออกหลัก คือ อินโดนีเซียและมาเลเซีย คาดจะฉุดให้ราคาปาล์มตกต่ำ ดังนั้น ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมด้านราคาตามมา ทางรัฐบาลคงจะต้องวางแผนรองรับระยะยาว โดยควรส่งเสริมการลงทุนที่จะนำไปสู่การใช้ด้านอื่นเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมโอลิโอเคมี ฯลฯ. – สำนักข่าวไทย