รัฐสภา 13 มี.ค.-“มีชัย” เตรียมส่งความเห็นให้ประธานสนช. เพื่อให้ส่งร่างกฎหมายเลือกตั้งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ระบุร่างกฎหมายเลือกตั้งส.ส.มี 2 ประเด็น และร่างกฎหมายการได้มาซึ่งส.ว. มี 1 ประเด็นเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ หวั่นหากร้องให้ตีความหลังเลือกตั้ง และพบว่าขัดรัฐธรรมนูญ กระบวนการจะล้มทั้งระบบ ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า เนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ สนช.ปรับแก้ ยังมีหลายประเด็นที่อาจเข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ สนช.ส่งตีความเพื่อให้เกิดความชัดเจน ดังนั้นในวันนี้ กรธ.จะหารือและทำความเห็นส่งให้ประธาน สนช.เพื่อพิจารณาภายในวันพรุ่งนี้ แต่คงไม่ต้องส่งความเห็นให้นายกรัฐมนตรี เพราะเชื่อว่าน่าจะทราบจากสื่อ
ประธาน กรธ. กล่าวว่า หากมีการประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วมีคนร้องและศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบรัฐธรรมนูญจะเกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะหากมีการเลือกตั้งไปแล้วจะทำให้ล้มทั้งกระบวนการต้องนับหนึ่งใหม่ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้นไม่มั่นใจว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตามมาบ้าง และจะทำให้กระบวนการต่าง ๆ ช้าและหยุดชะงักลง แต่หากวินิจฉัยตอนนี้ก็ยังสามารถอยู่ในกรอบโรดแม็ปเลือกตั้ง
นายมีชัย กล่าวว่า สำหรับร่างกฎหมายลูก ส.ส.มี 2 ประเด็นที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ คือ เรื่องการตัดสิทธิ์ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งสงสัยว่าเป็นการตัดสิทธิ์หรือตัดเสรีภาพ ซึ่งหากเป็นเรื่องเสรีภาพจะตัดไม่ได้ และประเด็นที่ให้คนอื่นลงคะแนนเสียงแทนผู้พิการได้ ซึ่งเดิมกรธ.กังวลเรื่องนี้ จึงเขียนว่าให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือเพื่อให้ผู้พิการลงคะแนนด้วยตนเอง แต่ สนช.ปรับแก้ไขใหม่กำหนดให้ เจ้าหน้าที่ลงคะแนนให้ได้ และถือว่าเป็นการลงคะแนนโดยตรงและลับ ซึ่งการเขียนเช่นนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ต้องเขียนให้ชัด เพราะความจริงคนที่จะลงคะแนนต้องอยู่ในภาวะที่จะลงคะแนนได้ หากขัดข้องก็ให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือได้
ประธาน กรธ. กล่าวว่า ร่างกฎหมายลูก ส.ว. ก็มีความกังวลเรื่องการแบ่งประเภทการสมัครและเลือกเป็น 2 ประเภท คือ อิสระ และโดยองค์กร ซึ่งจะเป็นการแยกแต่ละกลุ่มออกเป็น 2 พวก ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ในแต่ละกลุ่มเลือกกันเอง การแยกแบบนี้จึงไม่ใช่การเลือกกันเอง อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเท่ากับว่าให้องค์กรเลือกก่อนแล้วจึงจะเลือกกันเอง และยังมีความกังวลในทางปฏิบัติในกรณีที่บางองค์กรมีทุกจังหวัดจะสามารถส่งตัวแทนได้ทุกจังหวัด ก็จะทำให้มีตัวแทนแต่ละองค์กรเข้ามาจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย
“ดังนั้นควรให้ศาลชี้ให้ชัดก่อนจะเดินหน้า เพราะหากประกาศใช้เป็นกฎหมายครบแล้ว กรธ.ก็ต้องพ้นจากหน้าที่ และเมื่อถึงวันนั้นก็ต้องหาคนมายกร่างใหม่ และต้องใช้เวลาในการปรับแก้เนื่องจากแต่ละมาตราผูกโยงกัน” นายมีชัย กล่าว
ประธาน กรธ.ยังกล่าวถึงกรณีที่มีผู้จดทะเบียนตั้งพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งชื่อสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลว่า ไม่มีข้อห้ามในเรื่องนี้ และขอไม่ออกความเห็นในกรณีการตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษาพรรคดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย