ยานนาวา 28 ก.พ.-มูลนิธิอิสรชน ชี้เหตุโกงเงินคนจน เป็นเรื่องจิตสำนึก เผยคนไร้ที่พึ่ง ปี 60 เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
น.ส.อัจฉรา สรวารี เลขานุการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยว่า จากการทำงานของมูลนิธิเกี่ยวกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะหรือคนไร้ที่พึ่ง พบว่า ปี 2560 มีคนไร้ที่พึ่งอาศัยอยู่ในที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร 3,630 คนแบ่งเป็นชาย 2,203 คน หญิง 2,112 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 กว่าร้อยละ 10 หรือ 175 ราย โดยในจำนวน 3,630 คน จัดได้ 13 ประเภท สูงสุดเป็นกลุ่มคนเร่ร่อน 994 คน รองลงมาคือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะชั่วคราว 856 คน ผู้ติดสุรา 840 คน ผู้ป่วยข้างถนน 740 คน พนักงานบริการอิสระ 529 คน คนไร้บ้าน 495 คน คนจน 413 คน ครอบครัวคนเร่ร่อน 348 คน คนเร่ร่อนไร้บ้าน 346 คน ผู้พ้นโทษ72 คน แรงงานเพื่อนบ้าน 52คนผู้มีความสามารถหลากหลายทางเพศ 22 คนและต่างชาติ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุมากที่สุดสูง โดยเฉพาะในกลุ่มคนเร่ร่อนมีผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 40 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบมากสุดใน เขตพระนคร 624 คน รองลงมาเขตบางซื่อ 304 คนและเขตจตุจักร 252 คน และพบเสียชีวิตข้างถนน แล้ว 28 ราย
น.ส.อัจฉรา กล่าวต่อว่า ในภาพรวมถือว่าไม่มากหากเทียบกับในอดีต ซึ่งแสดงถึงการจัดการที่เป็นรูปธรรมที่มีมากขึ้น ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง 2557 แต่ที่ยังน่าเป็นห่วงมากที่สุด คือผู้สูงอายุเร่ร่อน ที่ถูกทอดทิ้งมากขึ้น ขณะที่การช่วยเหลือจากรัฐ เช่นเบี้ยผู้สูงอายุ1,000 บาทต่อเดือนถือว่าน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่นเดียวกับสวัสดิการรัฐในการช่วยเหลือผู้ยากไร้แบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้ช่วยให้พวกเขาอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ หนำซ้ำยังถูกเจ้าหน้าที่เองทุจริตเงินสงเคราะห์อย่างที่เป็นข่าวด้วย
น.ส.อัจฉรา กล่าวด้วยว่า มูลนิธิฯมองว่าเป็นปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น เกิดจากจิตสำนึกของคนทำงาน ไม่ควรโทษที่กลไกการทำงานเพราะตามหลักการทำงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทำให้ข้าราชการลงมาดูแลคนในท้องถิ่นมากขึ้น เข้าใจปัญหา สามารถช่วยเหลือคนยากไร้ในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงและได้รับการช่วยเหลือได้ทัน ท่วงที แต่เนื่องจากทำงานที่ต้องเร่งทำผลงาน เอาปริมาณทำให้เป็นช่องโหว่ในการทุจริต เพราะในภาวะที่เร่งรีบ ทำให้การตรวจสอบถูกละเลย
จนเกิดการปลอมแปลงเอกสารเพื่อให้ได้ยอดผู้ยากไร้จำนวนมากๆ ประกอบกับ สวัสดิการและค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่คนทำงาน ที่ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมงและเป็นลูกจ้างเหมาจ่าย ไม่ตอบโจทย์ ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต จนเกิดความโลภประกอบกับไม่มีการตรวจสอบที่เพียงพอ จึงกระตุ้นให้เกิดการทุจริต ดังนั้นต้องย้อนกลับมาดูว่ารัฐได้ปลูกจิตสำนึกที่ดี และดูแลเรื่องรายได้สวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่ รวมถึงกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดดีมากพอหรือยัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้น .-สำนักข่าวไทย