กรุงเทพฯ 25 ก.พ.-มีข้อมูลว่า ร้อยละ 85 ของโรงงานอุตสาหกรรมในไทย จะไม่สามาถแข่งขันได้ หากไม่ปรับรูปแบบการผลิตมาใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติภายใน 5 ปี เช่นเดียวกับเอสเอ็มอีกว่าครึ่งที่อาจต้องปิดกิจการ ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มเปลี่ยนมาใช้ระบบนี้เกือบทั้งระบบแล้ว
กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้น จนออกมาเป็นกระจกแผ่นใสพร้อมจำหน่ายของโรงงานผลิตกระจกแห่งนี้ ใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติเกือบทั้งระบบ ควบคุมด้วยคอมพิเตอร์ โดยใช้แรงงานคนไม่ถึง 20 คน แต่ละวันผลิตกระจกได้มากกว่า 600 ตัน ผู้บริหารบอกว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผลิตทำให้ได้กระจกที่มีคุณภาพและมาตรฐานคงที่เหมือนกันทุกลอต ควบคุมง่ายและประหยัดต้นทุนกว่าการใช้แรงงานคน
หุ่นยนต์แบบมัลติฟังก์ชั่นตัวนี้ ทำงานตัด เจาะ กลึง และเจียพลาสติกชิ้นส่วนยานยนต์ได้เบ็ดเสร็จในเครื่องเดียว ทุ่นแรงงานคนได้ถึง 30 คน ทำงานได้ ไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมง/วัน นี่เป็น 1 ในหุ่นยนต์ 1,700 ตัว ที่บริษัทผลิตชื้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นำมาใช้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำงานแทนแรงงานคนได้เกือบ 5,000 คน ประหยัดต้นทุนการผลิตได้ถึงร้อยละ 40
นอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ และการผลิตกระจกแล้ว อุตสาหกรรมประเภทอื่น ก็หันมาใช้ระบบนี้แทนแรงงานคนเช่นกัน อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ยา และโลจิสติกส์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บอกว่าปีนี้จะเห็นการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น คาดจะมีการลงทุนใช้งานไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท/ปี ย้ำการพัฒนาตามแนวทางนี้ไม่ได้ทำให้คนไทยตกงานทั้งหมด แต่เป็นการเตรียมพร้อมให้อุตสาหกรรมไทยเดินต่อได้ หากประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานระดับล่างในอนาคต
ขณะที่รัฐบาลเร่งเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ส่งเสริมการผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งสนับสนุนมาตรการทางภาษี เพิ่มแรงจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมหันมาใช้เทคโนโลยีการผลิตแทนแรงงานคน เพื่อลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ข้อมูลจากสถาบันไทย-เยอรมัน ชี้ชัด หากโรงงานกว่า 140,000 แห่ง ไม่นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ ร้อยละ 85 ของอุตสาหกรรมในไทย จะไม่สามาถแข่งขันได้ภายใน 5 ปี และร้อยละ 53 ของเอสเอ็มอีอาจต้องปิดกิจการ.-สำนักข่าวไทย