สกลนคร 19 ก.พ.-สายการบินนกแอร์แถลงขอโทษ เหตุเครื่องบิน สกลนคร-กรุงเทพ เครื่องยนต์ดับกลางอากาศ 1 เครื่อง กัปตันตัดสินใจร่อนลงจอดฉุกเฉิน จนทำให้เที่ยวบินล่าช้า
เหตุการณ์ภายในเครื่องบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD9407 สกลนคร-กรุงเทพฯ ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Tanawat Ampunant ซึ่งนั่งด้านซ้ายติดกับปีกและเครื่องยนต์ถ่ายเอาไว้ โดยจะเห็นเครื่องยนต์ใบพัดที่ปีกด้านซ้ายไม่ทำงาน ขณะที่แพนไปยังเครื่องยนต์ใบพัดด้านขวายังทำงานตามปกติ และมีควันออกมา ซึ่งกัปตันตัดสินใจนำเครื่องกลับไปลงจอดที่สนามบินสกลนคร ทั้งที่เพิ่งทะยานขึ้นจากสนามบินเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น โดยมีเปลวไฟพุ่งออกจากท่อไอเสีย 2 ครั้ง แล้วเครื่องยนต์ก็ดับไป สร้างความตกใจให้กับผู้โดยสาร ต่างลุ้นด้วยใจระทึก ขณะที่เจ้าหน้าที่บนเครื่องได้ให้คำแนะนำ และควบคุมสถานการณ์ให้อยู่สภาวะปกติตามแผนนิรภัยการบิน
ทันทีที่ล้อแตะพื้นและจอดได้อย่างเรียบร้อย ก็เรียกเสียงปรบมือจากผู้โดยสารด้วยความชื่นชมกัปตันดังขึ้นอย่างมิได้นัดหมายเลยทีเดียว ที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนด้านล่างยังมีทีมกู้ภัยของท่าอากาศยานสกลนคร เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนสาเหตุมาจากระบบควบคุมเครื่องยนต์มีปัญหา ทำให้หยุดทำงานระหว่างไต่ะระดับ จากนั้นสายการบินนกแอร์ได้ให้ผู้โดยสานนั่งรถตู้เดินทางไปยังสนามบินนครพนม เพื่อเดินทางด้วยเครื่องบินสายการบินนกแอร์ Boing 737-800 เข้ากรุงเทพฯ ส่วนเครื่องบินลำดังกล่าว ยังจอดไว้ที่ลานจอด สนามบินสกลนครเพื่อรอช่างมาตรวจสอบแก้ไข สำหรับเครื่องบินลำนี้เป็น รุ่น Q-400 Nextgen ขนาด 86 ที่นั่ง จากประเทศแคนาดา ในปี 2559 ใช้งานมาราว 2 ปี กรณีเครื่องยนต์ดับไป 1 เครื่องจาก 2 เครื่องยนต์ ก็ยังสามารถบินต่อได้ แต่ต้องลงจอดฉุกเฉิน
ล่าสุดสายการบินนกแอร์แถลงขออภัยอย่างสูง ในความล่าช้าของเที่ยวบิน DD 9407 ซึ่งกำหนดเดินทางจากท่าอากาศยานสกลนคร ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เวลา 15.10 น. มายังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมือง เวลา 16.35 น. มีผู้โดยสารทั้งหมด 84 คน เนื่องจากต้องปฏิบัติตามขั้นตอนทางด้านความปลอดภัย หลังจากกัปตันของเที่ยวบินดังกล่าว ได้พบปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของระบบเครื่องยนต์ จึงได้ตัดสินใจนำเครื่องกลับลงจอดที่ท่าอากาศยานสกลนครทันทีอย่างปลอดภัย เพื่อทำการตรวจสอบและแก้ไขอย่างละเอียดโดยทีมงานฝ่ายช่างผู้เชี่ยวชาญของสายการบิน
การที่เครื่องยนต์ของเครื่องบินดับไป 1 เครื่องนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ สำหรับเครื่องบินในไทยแม้จะยังไม่ได้ตรวจสอบตัวเลขที่ชัดเจน แต่ก็เกิดขึ้นปีสองปีครั้ง โดยไม่เลือกว่าจะเป็นสายการบินไหน แต่ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ซึ่งตามปกติจะมีมาตรฐานของทางราชการที่กำหนดการดูแลเครื่องยนต์ในขั้นต่ำไว้ เครื่องบินทุกสายการบินจะต้องผ่านมาตรฐานนี้ แต่ถ้าสายการบินใดดูแลเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ ก็สามารถทำได้ ในส่วนของนักบิน มีกฎระเบียบให้กัปตัน และนักบินผู้ช่วย ต้องฝึกบินกับเครื่อง simulator ในกรณีเครื่องยนต์ดับนี้ 6 เดือนต่อครั้ง หากสอบไม่ผ่าน จะไม่ปล่อยให้ขึ้นบิน กรณีเครื่องบินที่มี 4 เครื่องยนต์จะทำการฝึกแบบเครื่องยนต์ดับ 2 เครื่องด้วย ซึ่งการฝึกกับเครื่อง simulator กับเหตุการณ์จริง จะมีความแตกต่างกันมาก โดยเหตุการณ์จริงจะมีความตื่นเต้นกว่ามาก เพราะฉะนั้นการที่เครื่องยนต์ดับไป 1 เครื่อง และยังแลนดิ้งได้ ถือเป็นมาตรฐานที่นักบินทุกคนจะต้องทำได้
ส่วนกรณีที่เครื่องยนต์ดับทุกเครื่องยังไม่มีการฝึก เพราะเท่ากับไม่มีเครื่องยนต์เหลือเลย ต้องอาศัยประสบการณ์ของนักบินล้วนๆ แต่หากเครื่องยนต์ดับหมดทุกเครื่อง ไม่ได้หมายความว่าเครื่องจะดิ่งตกลงในทันที เพราะแม้เครื่องบินจะมีน้ำหนักมาก แต่ก็มีความเร็วสูงมาก ดังนั้นจึงสามารถร่อนไปได้ เหมือนเครื่องร่อน แต่จะร่วงลงมาเร็วกว่ามาก และสร้างความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินไม่มากก็น้อย
เคยมีกรณีที่เครื่องยนต์ดับหมด แล้วนักบินสามารถนำเครื่องลงจอดโดยผู้โดยสารทุกคนปลอดภัยมาแล้ว คือเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2009 สายการบิน ยูเอส แอร์เวย์ เที่ยวบิน 1549 เครื่องรุ่น แอร์บัส เอ320-214 บินออกจากนิวยอร์ค ไปซีแอตเทิล ขณะกำลังขึ้นไต่ระดับความสูงได้ชนกับฝูงนกเป็นจำนวนมาก ทำให้เครื่องยนต์ดับทุกเครื่อง นักบินได้ประสานงานถูกต้องตามขั้นตอนทุกอย่าง แต่ไม่สามารถนำเครื่องไปยังจุดหมายได้ ต้องตัดสินใจ นำเครื่องแลนดิ้งลงในแม่น้ำฮัดสัน ได้อย่างปลอดภัย ไม่มีผู้เสียชีวิตแม้แต่คนเดียว นักบินคนนี้ชื่อ Sully ซึ่งโดนตั้งกรรมการสอบอย่างหนัก ในที่สุดก็ได้ผ่านพ้นไปได้ และได้รับการยกย่องเป็นฮีโร่ เรื่องนี้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ Sully ฉายเมื่อเดือนกันยายน 2016 นำแสดงโดย ทอม แฮงส์ นั่นเอง.-สำนักข่าวไทย