พม. 16 ก.พ. – อธิบดีกรมพัฒนาสังคม ฯ ยืนยัน กระบวนการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ฯ มีมาตรฐาน และมีการกระบวนการสุ่มตรวจสอบ ส่วนความคืบหน้าตรวจสอบทุจริตศูนย์คนไร้ที่พึ่งขอนแก่น สั่งตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงแล้ว คาดทราบผล 15 วัน มีข้าราชการเกี่ยว 4 คน พร้อมเน้นตรวจสอบ งบประมาณของศูนย์ ที่มีวงเงิน 5 ล้านบาท ใน 6 จังหวัด
นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีข่าวทุจริตเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดขอนแก่น ว่า ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรงผู้เกี่ยวข้องที่พบมีมูลการทุจริต รวม 4 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการศูนย์ฯ หัวหน้าฝ่ายจัดสวัสดิการสังคม และเจ้าหน้าที่ 2 ราย เบื้องต้น คาดทราบผลภายใน 15 วัน ซึ่งตามระเบียบราชการโทษสูงสุดคือไล่ออก พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด เพื่อสอบเชิงลึกหาความเชื่อมโยงไปถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมูลค่าความเสียหาย
ส่วนกรณีป.ป.ท.พบความไม่ชอบมาพากลของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จังหวัดเชียงใหม่อีกแห่ง และพบ อีก 37 ศูนย์ ส่อทุจริต ได้มอบหมายให้ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ .ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) พร้อมตั้งคณะทำงาน 10 ทีม ลงพื้นที่ ตรวจสอบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทั้งหมด ทั่วประเทศ 77 ศูนย์ โดยพื้นที่ ตรวจสอบเร่งด่วน ใน 6 ศูนย์ เนื่องจากมีงบประมาณบริหาร 5 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย เชียงใหม่, ขอนแก่น, พัทลุง, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี และยะลา ส่วนการลงพื้นที่ตรวจสอบ ของ ป.ป.ท. วันนี้ (16ก.พ.)ที่จ.สมุทรสงคราม ได้รับรายงานเบื้องต้นว่า ไม่พบทุจริต
นางนภา กล่าวว่า ทั้งนี้ รมว.พม. ได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการพม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและประสาน ปปช. ปปท. สตง.เข้าร่วมตรวจสอบ หากพบมูลความผิด ให้เร่งดำเนินการตามระเบียบราชการ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนที่มีกระแสเรียกร้องให้ตนเองแสดงความรับผิดชอบ หลังจากพบทุจริตของศูนย์ คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯนั้น คงต้องอธิบาย ว่า ตนพึ่งมารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จึงไม่รับเรื่อง ก่อนหน้านั้นตนดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยทางสตง. เพิ่งส่งหนังสือ พบ การทุจริตในกลางปี 2560
นางนภา กล่าวว่า สำหรับ กระบวนการเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ มีมาตรการและมาตรฐานชัดเจน ซึ่งเมื่อเกิดเคสหรือมีใครแจ้งความความ เจ้าหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ ลงไปประเมินสถานะปัญหาความต้องการ จากนั้นนำกลับมาวิเคราะห์ประเมินการช่วยเหลือ ซึ่งมีวงเงินไม่เกินรายละ 3,000 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี โดยขออนุมัติเบิกจ่ายจากผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งการจ่ายเงินจะมีพยานรับทราบตอนรับและเซ็นรับ ขณะเดียวกันศูนย์ฯจะต้องมีตรวจสอบภายหลังอีกครั้ง ขณะที่ส่วนกลางจะมีการสุ่มตรวจอีกเช่นกัน ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์ฯจังหวัดขอนแก่น เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดขอนแก่น สตง.ได้มีหนังสือด่วนลับมาก ที่ตผ.0039/643 ลงวันที่30 มิ.ย. 60 แจ้งเรื่องการบริหารเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ประจำปีงบประมาณพ.ศ.2560 ต่อรมว.พม.จากนั้น สป.พม.มีหนังสือลับมากที่พม.0202/1318 ลงวันที่ 30ต.ค.2560 ส่งเรื่องให้พส.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และให้รายงานรมว.พม.และ สตง.ทราบ ทั้งนี้หนังสือที่สตง.ส่งมาในสมัย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ดำรงตำแหน่งเป็นรมว.พม. และมีนายไมตรี อินทุสุต เป็นปลัดพม.และนายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ เป็นอธิบดีพส. ก่อนที่นายไมตรีจะเกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.60 และแต่งตั้งนายพุฒิพัฒน์ เป็นปลัดพม.และนางนภาเป็นอธิบดีพส.ในขณะนี้.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2018/02/1518776990876.jpg)