ทำเนียบรัฐบาล 13 ก.พ.-พล.อ.ฉัตรชัยเตรียมเสนอครม.ประกาศให้ไทยเป็นประเทศปลอดไอยูยู มอบกระทรวงต่างประเทศเร่งประชาสัมพันธ์ผลงานแก้ปัญประมงให้ยุโรป-อเมริกาทราบความคืบหน้า
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการทำประมง ว่า ได้ติดตามการทำงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(ไอยูยู) โดยพูดคุยสองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือการติดตามการทำงาน ประเด็นที่สองคือการติดตามแก้ไขปัญหาให้กับสมาคมประมงที่มาร้องเรียนเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนการติดตามงาน จะดำเนินการเรื่องการออกใบอนุญาตทำการประมงในปี 2561-2562 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ออกใบอนุญาตพร้อมกับการใช้เรือ เพราะที่ผ่านมาการจะทำประมงได้จะต้องมีการออกใบอนุญาตจากกรมประมง แต่เรือต้องต่ออายุจากกรมเจ้าท่า
“ครั้งนี้ให้การออกใบอนุญาตและการต่ออายุสามารถดำเนินการพร้อมกัน โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมนี้ ซึ่งขณะนี้ได้ให้ชาวประมงมายื่นความจำนงแล้ว โดยเรือประมงพาณิชย์ซึ่งมีอยู่ประมาณ 11,000 ลำ แสดงความจำนงแล้ว 8,800 ลำ คิดเป็นร้อยละ 85 ทั้งนี้ ระยะเวลาการยื่นความจำนงจะหมดเขตวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ จึงขอให้ชาวประมงที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตดำเนินการตามกรอบระยะเวลา” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาไอยูยู ได้ปรับวิธีการแก้ไขปัญหาใหม่ โดยส่งเจ้าหน้าที่ไปพูดคุยกับคณะกรรมการอียูเป็นระยะ ครั้งล่าสุดคือ วันที่ 18 ธันวาคม 2560 ซึ่งอยากให้มีการสื่อสารสองทาง โดยในระหว่างนี้ใช้วิธีการพูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในประเด็นสำคัญคือการชี้แจงความคืบหน้าในการดำเนินการ เช่น กรอบกฎหมายว่าสามารถประกาศกฎกระทรวงหรือประกาศกรม ซึ่งคาดว่าสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้จะแล้วเสร็จ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการติดตามเรือที่สูญหาย โดยขณะนี้ได้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์จากเดิมที่ไม่สามารถหาหลักฐานได้ ให้สมาคมประมง สมาคมท้องถิ่น ตำรวจ และเจ้าหน้าที่รัฐรับรอง ซึ่งจะถือเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ และคาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนนี้เช่นเดียวกัน
“ส่วนเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องคือได้กำหนดแนวทางหารือร่วมกันว่าประเทศไทยอยากจะเป็นประเทศที่ปลอดไอยูยู แต่ต้องทำหลายขั้นตอน ซึ่งขั้นตอนที่ได้ดำเนินการไปแล้วในวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการยุทธศาสต์ชาติมีมติเห็นชอบร่วมกันว่าควรจะประกาศไปเลยว่าประเทศไทยปลอดไอยูยู ผมจะนำเรื่องนี้เสนอเข้าครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ และการทำงานจะต้องทำงานร่วมกันระหว่างไทยกับอียู และจะต้องมีหนังสือรับรองสินค้า ซึ่งสินค้าที่จะเข้ามาในประเทศไทยจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ ไม่ทำประมงผิดกฎหมาย ปลาที่อยู่ในเขตที่ได้รับอนุญาต เครื่องมือจับปลาจะต้องไม่ใช่เครื่องมือที่ทำลายล้าง ลูกเรือจะต้องไม่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย การนำเนินการครั้งนี้ถือเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของไทยอย่างชัดเจน เราจะมุ่งมั่นไปสู่ความเป็นประเทศที่ปลอดจากการทำไอยูยู ซึ่งได้เดินหน้าขั้นที่หนึ่งไปแล้ว” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว่า การดำเนินการเรืองดังกล่าวต้องคุยกับประเทศที่สามให้มาร่วมมือกับไทย ขณะนี้คุยกับเกาหลีและไต้หวันไปแล้ว ต่อไปจะพูดคุยกับประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ ที่ส่งวัตถุดิบเข้ามาในประเทศไทย การดำเนินการครั้งนี้เป็นการดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้อียูเห็นว่าเรามีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ให้เห็นว่าเราทำประมงให้เกิดความยั่งยืน แต่ยังมุ่งมั่นให้ไทยเป็นประเทศที่ปลอดไอยูยู อย่างไรก็ตาม ฝั่งยุโรปและอเมริกายังมีข้อมูลข่าวสารการแก้ไขปัญหาของไทยน้อยมาก ซึ่งไทยพยายามผลักดันให้ทราบว่ารัฐบาลไทยมีความเข้มข้นในการติดตามและแก้ไขปัญหาเป็นลำดับ ขณะที่ชาวประมงและสมาคมเองก็ให้ความร่วมมือทุกเรื่อง จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของไทย
พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื่องวิทยุเรือประมงที่ไม่ถูกกฎหมายว่า ไม่ได้พูดคุย โดยชาวประมงขอยกเว้นการเสียค่าธรรมเรียมในการขึ้นทะเบียนจำนวน 5,000 บาทต่อ 1 เครื่อง ซึ่งคณะกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) รับปากว่าจะยกเว้นเรื่องนี้ให้ ขณะเดียวกันกสทช.ได้ออกกติกาว่าใครที่มีวิทยุต้องไปขึ้นทะเบียนภายใน 60 วัน ซึ่งขณะนี้ได้เลยเวลามาแล้ว จึงให้กสทช.ขยายเวลาเป็น 180 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 22 เมษายนนี้ ส่วนกรณีตู้เอทีเอ็มไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวประมง กระทรวงแรงงานได้เรียกประชุม 7 ธนาคารให้มาช่วยกัน โดยขณะนี้ได้ติดตั้งเพิ่มกว่า 80 เครื่อง จากเดิมที่มีอยู่ 30 เครื่อง ทั้งนี้ อาจจะติดขัดในเรื่องของภาษาที่ใช้ โดยจะต้องมีทั้งหมดสามภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งกระทรวงแรงงานจะต้องปรับแก้ในส่วนนี้.-สำนักข่าวไทย
