กทม. 9 ก.พ. – ในการประชุมคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุกลับคืนประเทศไทยครั้งล่าสุด มีการยืนยันแหล่งกำเนิดโบราณวัตถุที่มาจากไทยกว่า 100 รายการ โดยได้ส่งหนังสือทวงคืนไปยังสหรัฐแล้ว ขณะที่นักโบราณคดีชี้ให้เห็นแนวทางการทวงคืนโบราณวัตถุจากประเทศกัมพูชา ซึ่งประสบความสำเร็จได้รับกลับคืนมาจำนวนมาก
ชุดเครื่องประดับทอง 10 ชิ้น ทั้งมงกุฎ ตุ้มหู เครื่องประดับช่วงแขนและเอว ศิลปะขอมโบราณ แบบปาปวน ถูกนำมาจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงพนมเปญ ของกัมพูชา หลังถูกลักลอบนำออกไปนานหลายทศวรรษ เครื่องประดับชุดนี้เป็นโบราณวัตถุชิ้นล่าสุดที่ทางการกัมพูชาได้รับคืนเมื่อธันวาคม 2560 หลังพบปรากฏอยู่ในแคตตาล็อกออนไลน์ของนายหน้าค้าศิลปะในลอนดอน อังกฤษ เมื่อปี 2559 คาดว่าอาจถูกขโมยไปจากปราสาทนครวัด ช่วงสงครามกลางเมืองปี 1970 ทางการกัมพูชาติดตามจนได้รับการส่งคืน ใช้เวลาดำเนินการไม่ถึงปี โดยใช้หลักฐานจากหนังสือ Khmer Gold Gift for the Gods ที่มีภาพถ่ายและรายละเอียดชัดเจนว่าเป็นของกัมพูชา
ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา กัมพูชาได้รับคืนโบราณวัตถุหลายร้อยชิ้น นักโบราณคดีให้ข้อมูลว่า ผลงานชิ้นเอกในการทวงคืนของกัมพูชา คือ ประติมากรรมหินแกะสลัก 7 ชิ้น ที่เคยอยู่ในปราสาทนครเกาะแกร์ พ.ศ 1400 ทันทีที่พบว่าไปปรากฏอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในอังกฤษ สหรัฐ และฝรั่งเศส รัฐบาลกัมพูชาแสดงหลักฐานพิสูจน์ว่าเป็นสมบัติของชาติที่ถูกลักลอบนำออกไปจริง จึงส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ โดยได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ รูปสลักหิน หน้าพระพรหม คือชิ้นแรกที่ได้รับคืนในปี 2555 และได้กลับคืนเรื่อยมาจนปี 57 ได้รับคืนชิ้นสุดท้ายชิ้นที่ 7 คือรูปหินแกะสลักหนุมาน รวมใช้เวลา 3 ปี
กรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศให้ข้อมูลว่า มีโบราณวัตถุของไทยถูกลักลอบนำออกและไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐและหลายประเทศในยุโรปจำนวนมาก ในช่วงเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การติดตามได้กลับคืนทำได้ไม่มากนัก ครั้งสำคัญที่ได้กลับมาเช่น ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ได้คืนจากสหรัฐเมื่อปี 2531 และอีกกลุ่มคือโบราณวัตถุศิลปะยุคก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง ซึ่งไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เอกชนในสหรัฐแล้วถูกรัฐบาลสหรัฐตรวจสอบพบการทำเป็นขบวนการ โดยสร้างเอกสารและข้อมูลเป็นเท็จ ก่อนที่ในปี 2558 ศาลสหรัฐตัดสินให้ชาวอเมริกันคืนโบราณวัตถุบ้านเชียงกว่า 300 ชิ้น และยังเหลือจะต้องคืนให้ไทยอีกกว่า 8,000 ชิ้น ถือเป็นตัวอย่างการติดตามที่ใช้เวลายาวนานกว่าจะส่งคืนได้สำเร็จ
กลางปี 2560 รัฐบาลตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย ได้ข้อสรุปบัญชีโบราณวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในไทยกว่า 100 รายการ ที่จะประสานติดตามกลับคืนผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ส่งต่อไปยังสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ โดยความหวังที่จะได้คืนชุดแรก คือ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว
กัมพูชาใช้ยุทธศาสตร์การทวงคืนโบราณวัตถุได้กลับมาในเวลาอันรวดเร็ว นักวิชาการ วิเคราะห์ว่าเป็นการใช้ชั้นเชิงการเมืองระดับโลก ส่งหนังสือขอบคุณสหรัฐและนานาชาติที่คืนโบราณวัตถุเพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ประเทศ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวด ความสูญเสียจากสงคราม ขณะฝ่ายไทย การติดตามทวงคืนใช้ระบบระเบียบขั้นตอนของหน่วยราชการที่รับผิดชอบ วิธีการ ช่วงเวลาและผลลัพธ์ จึงมีความแตกต่างกัน. – สำนักข่าวไทย