กทม. 7 ต.ค. – เจาะลึกโครงสร้างผู้แทนพิเศษรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และจะแก้ปัญหาไฟใต้อย่างไร
หลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์ที่ จ.ปัตตานี เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ประเด็นรัฐบาลส่วนหน้า หรือผู้แทนพิเศษรัฐบาล ก็ถูกกล่าวขึ้นโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตั้งหน่วยงานนี้ขึ้น เน้นการแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้
ภารกิจหลักของผู้แทนพิเศษรัฐบาล คือ บูรณาการ ประสานงาน กำกับดูแลการดำเนินงานต่างๆ ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ศอ.บต. และส่วนราชการในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้กระชับ รวดเร็ว เมื่อพบปัญหาหรือต้องการการตัดสินใจที่เร่งด่วน สามารถรายงานโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี หรือ พล.อ.ประวิตร ในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต. ดังนั้น ผู้แทนพิเศษรัฐบาลสามารถเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า คปต.ส่วนหน้า มีสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำกับดูแลเรื่องงบประมาณ ตั้งสำนักงานภายในกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย จ.ปัตตานี
คณะผู้แทนพิเศษรัฐบาล หรือ คปต.ส่วนหน้า ประกอบด้วย นายทหารและพลเรือน 13 คน มีอดีตนายทหารระดับสูงซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 14 ถึง 3 คน คือ พล.อ.อุดมเดช พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ และ พล.อ.อักษรา เกิดผล หัวหน้าพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ และยังมีอดีตแม่ทัพและรองแม่ทัพภาคที่ 4 อีกถึง 6 คน มีอดีตตำรวจ 1 คน และอดีตผู้บริหารระดับสูงของ ศอ.บต.จำนวน 2 คน ต้องจับตากันต่อไปว่าคณะผู้แทนพิเศษรัฐบาลซึ่งส่วนใหญ่เคยทำงานในพื้นที่มาก่อนจะมีความพิเศษอะไร ที่จะช่วยทำให้ไฟใต้มอดดับลงได้เร็วขึ้น . – สำนักข่าวไทย