ศาลฎีกาฯ 7 ต.ค. – “ยิ่งลักษณ์” ขอความเห็นใจยกเลิกคำสั่งทางปกครอง เรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท ให้ใช้กระบวนการทางศาลแพ่ง
เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อร่วมรับฟังการไต่สวนพยาน ฝ่ายจำเลย นัดที่ 3 ในคดีที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลย ฐานความผิดปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยในนัดนี้ ศาลนัดไต่สวนพยาน 2 ปาก คือ นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์) และนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว
สำหรับการไต่สวนพยานในคดีนี้ ไต่สวนมาแล้ว 13 นัด แบ่งเป็นไต่สวนพยานโจกท์ทั้งหมด 14 ปาก จำนวน 10 นัด เริ่มไต่สวนนัดแรก คือวันที่ 5 มกราคม ปี 2559 ไต่สวนพยานจำเลยแล้ว 5 ปาก จากทั้งหมด 42 ปาก รวม 3 นัด เริ่มไต่สวนนัดแรกวันที่ 5 สิงหาคม ปี 2559 ปัจจุบันเหลือการไต่สวนอีกประมาณ 15 นัด ครบกำหนดการไต่สวนในเดือนมิถุนายนปี 2560
การเดินทางมารับฟังการไต่สวนของอดีตนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ยังคงมีอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดงเดินทางมาให้กำลังใจ ด้วยการมอบดอกไม้และตะโกนให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 35,000 ล้านบาท ว่า อยากขอความเห็นใจ เพราะโครงการรับจำนำข้าวเป็นการช่วยเหลือชาวนา ซึ่งที่ผ่านมาได้ร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมการ และหน่วยงานต่าง ๆ ไปหลายครั้งแล้ว การจะใช้คำสั่งทางปกครองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
สำหรับการยื่นขออุทธรณ์คำสั่งเรียกค่าเสียหายจากโครงการจำนำข้าวนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับเอกสาร ต้องรอเพื่อศึกษารายละเอียดอีกครั้ง การใช้คำสั่งทางปกครองเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง อยากให้รัฐบาลรับไปพิจารณา เพราะทุกอย่างต้องอยู่บนข้อเท็จจริง ควรใช้กระบวนการทางศาลแพ่งมากกว่าคำสั่งทางปกครอง เพราะเท่ากับว่าเป็นการตัดสินไปแล้ว กฎหมายมีทางออกให้เลือก 2 ทาง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงกรณีที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ถึง 15 คดีว่า อยากให้ทุกหน่วยงานยึดแนวทางของรัฐธรรมนูญที่ต้องปฎิบัติเท่าเทียมกัน ส่วนที่รัฐบาลตรวจสอบโครงการต่าง ๆของรัฐบาลที่แล้วนั้น รัฐบาลเป็นผู้นำ และเป็นผู้มีอำนาจ จึงอยู่ที่ผู้มีอำนาจจะคิดและจะทำให้ประชาชนยอมรับ.-สำนักข่าวไทย