กรุงเทพฯ7 ต.ค. -นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ได้หารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อขอความชัดเจนภายในปี 2559 กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นพีเอส จังหวัดฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนดภายในปี 2559-2560 เนื่องจากติดปัญหารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ซึ่งเป็นการประกาศหลักเกณฑ์ภายหลังประกาศรับซื้อไอพีพีปี 2550 และที่ผ่านมาทราบว่าทางเอ็นพีเอสยื่นเรื่องอีเอชไอเอกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)หลายครั้งแล้วแต่ยังไม่ผ่าน
“แม้ว่าจะยังไม่กระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ เพราะสำรองของประเทศมีสูงและโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งมีกำลังผลิตสูงถึง 10,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ภาคตะวันออกมีความต้องการเพียง 4,000 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ.ก็ต้องการความชัดเจนเพื่อนำมาทำแผนเรื่องความมั่นคงไฟฟ้า” นายกิจจา กล่าว
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ยอมรับว่าจะเร่งตัดสินใจให้เร็วที่สุด เพราะล่าช้ามานาน โดยกระทรวงพลังงานจะตรวจสอบสัญญาและเงื่อนไขการประมูลที่ผ่านมาก่อนจะพิจารณาว่าควรให้เอ็นพีเอสเลื่อนเข้าระบบได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการโรงไฟฟ้าไอพีพีถ่านหินเอ็นพีเอสจะผลิตจากบิทูมินัสและซับบิทูมินัส กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ พื้นที่เขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่คัดค้านตลอดและมีการวิเคราะห์จากผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าว่าโครงการนี้อาจเกิดได้ยาก เพราะต้องขนส่งถ่านหินนำเข้าด้วยรถยนต์ระยะทางไกล โดยส่วนใหญ่โรงไฟฟ้าถ่านหินจะตั้งติดชายทะเล โดยล่าสุดทางเอ็นพีเอสได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงพลังงานขอทบทวนสัญญาและเลื่อนระยะเวลาผลิตไฟฟ้าเข้าระบบออกไปอีก 5 ปี.- สำนักข่าวไทย