กรุงเทพฯ 1 ก.พ. – กยท.เผย 3 ประเทศ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ลดส่งออกยาง 1.15 แสนตัน หนุนราคายางสูงขึ้น
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ (ไอทีอาร์ซี) แถลงผลการดำเนินการตามมาตรการควบคุมการส่งออกยาง หรือเออีทีเอสในช่วง 3 เดือน
นายระพีภัทร์ กล่าวว่า หลังจากประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 3 ประเทศ ผู้ผลิตและส่งออกยางพารา ดำเนินการผ่านมาตรการกฎหมายลดการส่งออกยางพาราร่วมกันตามข้อตกลง 350,000 ตัน ในระยะ 3 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2561 แบ่งเป็น ไทยลดการส่งออก 240,000 ตัน อินโดนีเซีย 95,000 ตัน และมาเลเซีย 20,000 ตัน ในเบื้องต้นระดับราคายางพาราเดือนมกราคม 2561 หลังลดการส่งออกรวมกว่า 115,600 ตัน แบ่งเป็นไทย 77,000 ตัน อินโดนีเซีย 32,000 ตัน และมาเลเซีย 66,000 ตันนั้น ทำให้ราคายางในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 1.4 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็น 1.55 ดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ไทยพบว่าราคายางปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยต้นเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ 44-45 บาทต่อกิโลกรัม แต่วันนี้เพิ่มเป็น 47.15 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ จะต้องมีการประชุมร่วมกันในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์อีกครั้ง เพื่อสรุปตัวเลขผลดำเนินงานของแต่ละประเทศว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่
สำหรับการลดปริมาณส่งออกยางพารา ยืนยันว่าไม่มีผลต่อรายได้ของประเทศ แต่กลับทำให้ราคายางเพิ่มขึ้น จากเดิม 3 เดือนไทยส่งออกยางเฉลี่ย 900,000 ตัน รายได้ 45,000 ล้านบาท ส่งออกลดลงเหลือ 660,000 ตัน และด้วยราคาต่อกิโลกรัมที่สูงขึ้นตามเป้าหมายกิโลกรัมละ 60 บาท รายได้จากการส่งออก 42,000 ล้านบาท จะพบว่ามูลค่าที่ได้ไม่แตกต่างจากรายได้เดิมปีที่ผ่านมา อีกทั้งในอนาคตการประชุมสภาไตรภาคียางพาราที่ประเทศมาเลเซียเดือนพฤศจิกายน 2561 หากประเทศเวียดนามที่ผลิตยางพาราส่งออกเช่นกันเข้าร่วมสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศแล้วจะทำให้สมาชิกเพิ่มเป็น 4 ประเทศ จะส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกยางโลกของ 4 ประเทศรวมกันเพิ่มจากเดิม 3 ประเทศร้อยละ 70 เป็นร้อยละ 80 ทำให้อำนาจต่อรองในตลาดโลกมากขึ้นเช่นกัน. – สำนักข่าวไทย