ภูมิภาค 31 ม.ค.-ทั่วประเทศร่วมชมปรากฏการณ์ ซูเปอร์มูน บลูมูน และ บลัดมูน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 150 ปี ที่ปรากฏการณ์ทั้ง 3 เกิดขึ้นพร้อมกัน
บรรยากาศการติดตามชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาในค่ำคืนวันนี้ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์กับดวงจันทร์ 3 อย่างเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ ซูเปอร์มูน (Supermoon) บลูมูน (Blue Moon) และ บลัดมูน (Blood Moon) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 150 ปี
เวลา 18.00 น. บริเวณสวนชมน่านฯฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน อ.เมือง จ.พิษณุโลก ค่ำวันนี้มีชาวพิษณุโลกจำนวนมาก มาเฝ้ารอชมปรากฏการณ์พระจันทร์สีเลือด และจันทรุปราคาเต็มดวง ร้านนมริมแม่น้ำน่าน ต่างแน่นขนัดไปด้วยประชาชนที่มาจับจองที่นั่ง จำนวนมากนำกล้อง ขาตั้งกล้อง มาปักหลักเลือกมุมต่าง ๆ ช่วงพระจันทร์กำลังเริ่มโผล่พ้นขอบฟ้า และไม่ผิดหวังค่ำวันนี้ฟ้าโปร่งโดยช่วงเวลาประมาณ 18.15 น. พระจันทร์ค่อยๆ พ้นขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออก มองจากฝั่งแม่น้ำน่านทิศตะวันตก พระจันทร์สีอมแดงค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาบริเวณกลางเจดีย์หลวง และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองนวล กระทั่งเวลาประมาณ 19.00 น. เงาของโลกก็ค่อย ๆ เริ่มบดบังดวงจันทร์ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงพระจันทร์ก็มืดสนิท ขณะที่บริเวณหน้าศูนย์วัฒนธรรมภาคเหนือตอนล่าง ชมรมดาราศาสตร์โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม นำกล้องโทรทรรศน์มาติดตั้งให้ประชาชนมาชมปรากฎการณ์ครั้งนี้ด้วย
ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.สงขลา จัดกิจกรรม เปิดฟ้าตามหาดาว ครั้งที่ 3 “ปรากฏการณ์ จันทรุปราคาเต็มดวง” ขึ้นที่บริเวณ ศาลาไทย หาดสมิหลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยได้นำกล้องดูดาวขนาดใหญ่จำนวน 20 ตัว มาติดตั้งให้ผู้สนใจชมปรากฎการณ์ในครั้งนี้ มีนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจ บรรยากาศเป็นอย่างคึกคัก ท่ามกลางอากาศที่เป็นใจ สามารถชมปรากฏการณ์ได้ตั้งแต่เริ่มต้น โดยที่บริเวณหาดสมิหลาแห่งนี้ สามารถเห็นดวงจันทร์ที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ตั้งแต่มองเห็นดวงจันทร์ขึ้นจากเส้นขอบฟ้า โดยในช่วงที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนั้น ได้เรียกเสียงฮือฮาจากประชาชนผู้ร่วมชมได้อย่างมาก และมีการเข้าคิวเพื่อชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ผ่านกล้องดูดาว ซึ่งจะมองเห็น ดวงจันทร์และสีแดงอิฐได้อย่างชัดเจนและสวยงาม
ที่จ.สุรินทร์ หลังเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง โดยจะมีสีแดงส้ม หรือ “พระจันทร์สีเลือด” ตั้งแต่เวลา 19.51 – 21.07 น. โดยสามารถมองดูได้ด้วยตาเปล่า เมื่อเวลา 19.10 น.ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวตระเวนดูบรรยากาศใน จ.สุรินทร์ พบว่าส่วนใหญ่ต่างให้ความสนใจกับปรากฏการณ์ดังกล่าว และสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ดวงจันทร์จะออกสีส้มจาง และไม่เข้มมากนัก แต่ก็มีขนาดดวงจันทร์ที่ใหญ่กว่าปกติ บางคนพากันมายืนถ่ายภาพบันทึกไว้เป็นที่ระลึกเพราะเป็นปรากฏการณ์ในรอบ 150 ปี กระทั่งเวลา 20.00 น.เป็นต้นมา พระจันทร์ได้เริ่มโผล่จากเมฆให้เห็น ซึ่งต่างจากที่เห็นช่วงหัวค่ำ โดยพระจันทร์ได้ออกเป็นสีเลือดชัดเจน ณะที่ประชาชนหลายพื้นที่ต่างพากันจุดพลุ-ประทัด ตามความเชื่อเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีและสิ่งชั่วร้ายออกไป
ส่วนที่ดาดฟ้าศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย สาขาวิชาฟิสิกส์ จังหวัดเลย ผศ.ดร.สุรจิตร์ พระเมือง เตรียมสถานที่ในการชมจันทรุปราคา ตั้งแต่เวลา 18.00-23.00 น. โดยมีนักศึกษา และบุคลากร นำบุตรหลาน มารอดูชมจันทรุปราคาและเฝ้าติดตามปรากฏการณ์จันทรุปราคาครั้งแรกของปี 2561 โดยบรรกาศไม่ค่อยเป็นใจ เพราะตลอดทั้งวัน ในพื้นที่จังหวัดเลย มีเมฆมาก ครึ้มทั้งวัน สลับกับมีแดดนิดเดียว แต่หลังจากพระอาทิตย์ตก ท้องฟ้าก็เริ่มเปิด สลับกับมีเมฆมาก แต่พอพระจันทร์โผล่ นักศึกษาที่ไปรอชมต่างพากันถ่ายรูปเก็บไว้และส่งเสียงร้องดีใจที่ได้ชมจัทรทรุปราค
ปรากฏการณ์ดวงจันทร์สีเลือดในทางความเชื่อ อาจตีความหมายเป็นเหตุเตือนถึงรางร้าย แต่สำหรับในหลักของดาราศาสตร์สามารถอธิบายถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทำเรามองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยปรากฏการณ์ครั้งนี้เรียกว่า Super Blue Blood Moon เพราะมีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ 3 เหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกของปี 2561 โดยคนไทยสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วทุกพื้นที่ ทางทิศตะวันออกจะเห็นได้อย่างชัดเจนในช่วงหัวค่ำ ตั้งแต่เวลา 18:30 น. ดวงจันทร์จะค่อยๆ โคจร อยู่ในแนวระนาบเดียวกันกับโลก เว้าแหว่งทีละน้อยๆ และเมื่อโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ก็จะเห็นจันทรุปราคาเต็มดวง ตั้งแต่เวลา 19.51 ถึง 21.07 น. ค้างนานถึง 1 ชั่วโมง 16 นาที และช่วงเวลาที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง หรือ Blood moon เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากคลื่นแสงสีแดงหักเหผ่านบรรยากาศโลกไปกระทบกับดวงจันทร์ และปรากฎการณ์จะสิ้นสุดลงใน เวลา 23.08 นาที ส่วน Blue Moon หมายความว่า เกิดพระจันทร์เต็มดวงเป็น ครั้งที่ 2 ในเดือนนี้ ยกตัวอย่างเช่น เดือนมกราคม 2018 เกิดพระจันทร์เต็มดวงไปแล้วเมื่อวันที่ 2 มกราคม และวันนี้ก็จะเกิดพระจันทร์เต็มดวงอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียกว่า “Blue Moon”.-สำนักข่าวไทย