กรุงเทพฯ 29 ม.ค.-ราคาผลผลิตการเกษตรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผลไม้ที่สำคัญหลายชนิด ทำให้ผลสำรวจความสุขของเกษตรกรไทยในช่วงปลายปีที่แล้ว อยู่ในระดับมากที่สุด
จากสถานการณ์ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคา อาทิ ผลไม้ ทุเรียน มังคุด ปาล์มน้ำมัน และปลาน้ำจืด ตามความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศมีต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการขับเคลื่อนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ มาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตร และมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรจากทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน 2,177 ราย ภายใต้หัวข้อ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา พบว่าความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทยอยู่ในระดับมากที่สุด ด้วยคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 82.78 คะแนน จาก 100 คะแนน โดยในมิติชี้วัดความสุข 6 มิติ พบว่า มิติครอบครัวดี มีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด 87.56 รองลงมาคือ มิติสุขภาพดี มิติการงานดี มิติใฝ่รู้ดี และมิติสุขภาพการเงินดี ตามลำดับ
เกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรหลักทุกประเภท มีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด โดยชาวสวนผลไม้มีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด 84.99 รองมาคือ เกษตรกรชาวสวนปาล์ม และกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด มีคะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ที่ 84.94 และ 84.62 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐ ตามแผนบริหารจัดการผลไม้ พัฒนาคุณภาพสินค้า และช่องทางการตลาดประชารัฐ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ ประกอบกับการส่งออกเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรขายได้ราคาดี
หากจำแนกเป็นรายภาคพบว่า เกษตรกรทุกภาคมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด โดยภาคใต้ตอนบนมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด 86.36 รองมาคือ เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคกลาง ส่วนเกษตรกรในภาคใต้ตอนล่าง มีคะแนนเฉลี่ยความสุขน้อยที่สุด อยู่ที่ 80.36 เนื่องจากอากาศแปรปรวน ฝนตกชุก และเกิดอุทกภัย ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกรได้รับความเสียหาย รวมทั้งกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร.-สำนักข่าวไทย