กรุงเทพฯ 28 ม.ค.-ความเป็นมาของ “นิด้าโพล” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มีการสำรวจความคิดเห็นครั้งแรกในปี 2518 ซึ่งที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นสำนักโพลแห่งหนึ่งที่สำรวจความเห็นประชาชนได้เที่ยงตรงแม่นยำ
“นิด้าโพล” เริ่มสำรวจความคิดเห็นประชาชนครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2518 ในประเด็นการทำประชามติเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 มกราคม 2518 โดยสำรวจความคิดเห็น 2 ครั้ง ทั้งประเด็นความสนใจต่อการเลือกตั้ง รวมถึงการทำนายผลการเลือกตั้ง คล้ายๆ กับเอ็กซิทโพล ซึ่งผลสำรวจครั้งนั้น ถือว่าใกล้เคียงกับความเป็นจริงอย่างมาก
บทบาทของ “นิด้าโพล” เด่นชัดขึ้นเมื่อมีการสำรวจการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภาในช่วงเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม 2518 แต่ด้วยงบประมาณและกำลังคนที่จำกัด จึงสำรวจเฉพาะเขตกรุงเทพฯ แม้เป็นงานที่ยากลำบาก แต่วัตถุประสงค์คือ ต้องการสะท้อนความต้องการประชาชนให้รัฐบาลและรัฐสภารับฟัง และวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนรู้จักแสดงความรู้สึกนึกคิด จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2519 สถาบันฯ จึงยุติการทำโพล
ยุคใหม่ของ “นิด้าโพล” เริ่มต้นอีกครั้งในปี 2550 เมื่อศาสตราจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เห็นควรฟื้นฟู “นิด้าโพล” ที่เคยมีชื่อเสียงในอดีตกลับมา เพื่อหวังเป็นแสงสว่างของสังคม พร้อมตั้ง “ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือ NIDA Poll Center” ขึ้น
ในระยะแรกนำร่องสำรวจความเห็นปีละไม่น้อยกว่า 5 ครั้ง หลังจากนั้นไม่นาน นิด้าจึงมีมติจัดตั้ง “ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือ นิด้าโพล” พร้อมกำหนดภาระหน้าที่และระเบียบปฏิบัติบังคับใช้เมื่อ 29 กรกฎาคม 2551
หากจำกันได้ “นิด้าโพล” ขึ้นชื่อเรื่องความแม่นยำในการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเลือกตั้งปี 2554 ที่ผลโพลระบุไว้ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะพรรคประชาธิปัตย์ขาดลอย หรือแม้แต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2556 ที่ขณะนั้น พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงสมัครแข่งขันในนามพรรคเพื่อไทย กับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนั้นโพลสำนักใหญ่ๆ 3-4 แห่ง ต่างเปิดเผยผลสำรวจว่า พล.ต.อ.พงศพัศ จะมาแรงชนะคู่แข่ง มีเพียง “นิด้าโพล” ที่สวนกระแสระบุว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งท้ายที่สุดก็เป็นตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ด้วยคะแนนเสียง 1.25 ล้านเสียง ต่อ1.07 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 47.75 กับ 40.97
ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน “นิด้าโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นสะท้อนความเป็นไปในสังคม รวมถึงโพลเลือกตั้ง โพลประชามติ และด้านต่างๆ ซึ่งโพลสาธารณะ “นิด้าโพล” ได้ถูกนำเสนอผ่านช่องทางต่างๆ นับ 100 เรื่องต่อปี ทั้งการเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ, วัฒนธรรม, สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ด้านบันเทิงและกีฬา.-สำนักข่าวไทย