กรุงเทพฯ 25 ม.ค.-ทำความรู้จักฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 พบว่าเป็นฝุ่นละอองที่เป็นภัยใกล้ตัว และมีอำนาจทะลุทะลวงได้มากกว่าที่คิด
ก่อนหน้านี้เคยได้ยินคำว่า PM 10 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน ซึ่งมักพบในช่วงที่มีการเผาป่า แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า เปรียบเทียบให้ชัดเจน คือ PM 10 เป็นฝุ่นที่เล็กกว่า 1 ใน 6 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผม แต่ PM 2.5 เป็นฝุ่นละเอียด เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางเส้นผม หากฝุ่น PM 10 เกินค่ามาตรฐานอาจทำให้เกิดภาวะโรคหอบหืด
ส่วน PM 2.5 หากมีค่าเกินมาตรฐาน สามารถเล็ดลอดผ่านกลไกป้องกันของร่างกาย แพร่กระจายในระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอด เข้าไปถึงส่วนลึกที่สุดของปอด และในปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง
รายงานของ Green Peace เรื่องมลพิษของ PM 2.5 เดือนมกราคม-มิถุนายนปี 60 เรียกร้องให้ใช้การวัดคุณภาพอากาศ เปลี่ยนจาก PM 10 เป็น PM 2.5 เพื่อพิจารณาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งรายงานระบุไว้ว่า PM 2.5 เกิดจากการเผาในที่โล่งมากสุด 209,000 ตัน/ปี รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิต 65,000 ตัน/ปี ตามมาด้วยการคมนาคมขนส่ง 50,000 ตัน/ปี
โฟกัสเฉพาะกรุงเทพฯ ที่เพิ่งประสบภาวะมลพิษ จากข้อมูลสถิติ 3 ปีย้อนหลังตั้งแต่ปี 57-59 ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า “พื้นที่ทั่วไป” เขตวังทองหลาง มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 มากสุดเฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง โดยปี 57 อยู่ที่ 65 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, ปี 58 อยู่ที่ 81 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และปี 59 อยู่ที่ 95 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
หากพิจารณาเฉพาะพื้นที่ “ริมถนน” พบว่าที่ดินแดงมีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง สูงสุด 3 ปีติดต่อกัน โดยปี 57 อยู่ที่ 87 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร, ปี 58 อยู่ที่ 101 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และปี 59 อยู่ที่ 103 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
เปรียบต่างระหว่างไทยกับนานาชาติ พบว่าไทยยังรุนแรงน้อยกว่า เพราะสถิติเมืองทั่วโลกที่เคยประสบปัญหาบางแห่งสูงระดับ 100-217 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร โดยที่เมืองซาบอลของอิหร่าน เคยพุ่งสูงถึง 217 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เมืองควาลิยัร รัฐมัธยประเทศในอินเดีย มีค่า PM 2.5 รองลงมาคือ 176 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย อยู่ที่ 156 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ที่กรุงเดลี ประเทศอินเดีย ก็มีค่าฝุ่นละอองทะลุ 122 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรมาแล้ว เช่นเดียวกับเมืองชิงไต่ มณเหอเป่ย์ของจีน ก็มีค่าฝุ่นละออง 128 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร
นอกจากนี้ ยังพบว่าอีกหลายเมืองของจีน ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จนถึงขั้นต้องสร้างหอคอยฟอกอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในเมืองซีอาน มณฑลเหอเป่ย์ เพื่อฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้ประชาชน โดยมีความสูงกว่า 100 เมตร สามารถฟอกอากาศในรัศมี 10 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่โดยรอบ.-สำนักข่าวไทย










