นนทบุรี 24 ม.ค. – พาณิชย์กล่อมภาคเอกชนยอมตรึงราคาสินค้า แต่ขอรัฐช่วยหามาตรการลดผลกระทบหลังขึ้นค่าแรง ปลื้มลอยตัวน้ำตาลทรายลดราคาขายถึง 2 บาทต่อกิโลกรัม
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับภาคเอกชนกว่า 152 ราย ว่า ผู้ประกอบการและห้างร้านต่าง ๆ เห็นด้วยกับการศึกษาเรื่องผลกระทบค่าแรงที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการประเมินไว้ว่าจะมีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้ามากสุดไม่ถึงร้อยละ 2 ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจะเกี่ยวกับสินค้าเกษตร ซึ่งมีการจ้างงานและใช้แรงงานจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามผลกระทบต่อไป แต่ยังไม่ได้มีการบอกว่าจะมีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด
ทั้งนี้ ราคาสินค้าจะต้องไม่มีการปรับขึ้น เนื่องจากค่าแรงที่ปรับขึ้นกระทบต้นทุนราคาสินค้าน้อยมากประกอบกับกรมการค้าภายในมีมาตรการดูแลค่าครองชีพอยู่แล้ว หากต้นทุน ไม่เพิ่มขึ้นก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องปรับขึ้นราคาสินค้า เช่นเดียวกับอาหารปรุงสำเร็จที่ได้รับผลกระทบไม่มากไม่ควรที่จะปรับขึ้นราคาโดยอ้างต้นทุนปรับเพิ่มขึ้น หากพบหรือมีการแจ้งเข้ามากรมการค้าภายในจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบ หากพบการกระทำผิดจะมีโทษทางกฎหมาย
นอกจากนี้ ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในตรวจสอบราคาน้ำตาลทรายในห้างค้าปลีกและร้านค้าแล้ว พบว่าขณะนี้ราคาขายปลีกน้ำตาลทรายลดลงประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม และยังมีการหารือกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำตาลทราย โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว รวมถึงขนมต่าง ๆ ที่ใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบ และส่งหนังสือขอความร่วมมือผู้ประกอบการต่าง ๆ ให้ปรับราคาลงตามต้นทุน หากไม่สามารถปรับลงได้ควรมีโปรโมชั่นช่วยลดภาระค่าครองชีพ และคืนความสุขให้กับประชาชนด้วย แต่การปรับราคา หรือโปรโมชั่นเมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับสตอกของผู้ประกอบการ
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานหอการค้าไทย ระบุว่าการปรับค่าแรงจะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรที่แบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศอาจจำเป็นต้องปรับราคาจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นแรงงานขั้นต่ำจำนวนมาก ซึ่งการปรับค่าแรงใหม่นี้จะตรงกับช่วงผลผลิตของผลไม้ออกมามากและมีการใช้งานแรงงานสูง ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งจะต้องมีหน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือกันต่อไป
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งปลีกไทย เปิดเผยว่า ในกลุ่มสินค้าปลีกค้าส่งมีการจ้างแรงงานแพงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐประกาศอยู่แล้ว โดยขณะนี้จ่ายค่าจ้าง 350 บาทต่อวัน สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้กระทบ เนื่องจากใช้แรงงานไม่มาก จึงไม่มีผลต่อการปรับขึ้นราคา
ขณะเดียวกันผู้ผลิตก็ยังไม่ได้แจ้งปรับขึ้นราคาเช่นกัน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ค่อยสูง กำลังซื้อจะขยายตัวเพียงเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ถือบัตรสวัสดิการเท่านั้น ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยกระจายกำลังซื้อของผู้ที่มีบัตรสวัสดิการสามารถเข้าไปซื้อสินค้าเอสเอ็มอีได้ เพราะเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น . – สำนักข่าวไทย