กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – องค์การเภสัชกรรมร่วมมือ ปตท. ศึกษาเตรียมการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง เตรียมดึงศิริราชและต่างชาติเข้าร่วม คาดช่วยคนไทยเข้าถึงยาราคาถูก พื้นที่ก่อสร้างเล็งพื้นที่นิคมฯ WECOZI จ.ระยองที่ ปตท.กำลังเสนอเป็นนิคมฯ อีอีซี
องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับ บมจ.ปตท. ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็งและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการผลิตวัตถุดิบสารออกฤทธิ์ทางยา (Active Pharmaceutical Ingredient, API)” เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางยาให้ผู้ป่วยเข้าถึงยามากขึ้น ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ พึ่งพาตนเองได้
นายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า จากสถิติพบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ของคนไทย ประมาณ 60,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละเกือบ 7 ราย ขณะที่ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 8 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยประเมินว่า 30 ปีข้างหน้ายาทั่วโลกจะเป็นยาสำหรับการรักษาโรคมะเร็งครึ่งหนึ่ง ขณะที่ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ยังไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากยารักษาโรคมะเร็งบางประเภทมีราคาสูงมากและต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมดร้อยละ 100
ดังนั้น ความร่วมมือกับ ปตท.ก็จะใช้ความเชี่ยวชาญของ ปตท.ทั้งการให้คำแนะนำเรื่องการจัดตั้งโรงงาน การวิจัยและพัฒนาการผลิตจากปิโตรเคมีมาช่วยทำให้การตั้งโรงงานของ อภ.รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ทางศิริราชพยาบาลก็พร้อมจะเข้ามาร่วมมือวิจัยและทาง อภ.จะดึงผู้ผลิตยาต่างประเทศเข้ามาร่วมทุนด้วยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและทำให้ยาราคาถูกลง โดยมูลค่าการลงทุนโรงงานจะไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ผลการศึกษาจะชัดเจนใน 6 เดือนหน้าข้างหน้า หากลงทุนแล้วก็คาดว่าจะเริ่มผลิตยาปี 2568 โดยโรงงานจะตั้งอยู่ที่นิเวศอุตสาหกรรมวนารมย์ (WECOZI) พื้นที่นิคมฯ ของ ปตท.ในจังหวัดระยอง
โดย อภ.มุ่งเน้นการผลิตยารักษาโรคมะเร็งทุกกลุ่มการผลิต ทั้งยาเคมีบำบัดชนิดเม็ดและฉีด (Chemotherapy) ซึ่งเป็นยาพื้นฐานในการรักษาโรคมะเร็งที่สามารถออกฤทธิ์ทั่วร่างกายและยารักษาแบบจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง (Targeted Therapy) ทั้งยาเคมีชนิดเม็ดและยาฉีดชีววัตถุคล้ายคลึงประเภท Monoclonal antibodies (Biosimilar) เพื่อให้มียาครอบคลุมการรักษาทุกกลุ่มโรคมะเร็งในปัจจุบัน
“หาก อภ.สามารถสร้างโรงงานยารักษาโรคมะเร็งจะสามารถลดราคายาลงได้มากกว่าร้อยละ 50 ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ทั่วถึงมากขึ้น โดยปัจจุบันไทยมีมูลค่าการใช้ยารวม 150,000 ล้านบาท/ปี และร้อยละ 70 เป็นการนำเข้ายาจากต่างประเทศ” นายแพทย์นพพร กล่าว
ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมชั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า พันธกิจ ปตท. คือ ดูแลความมั่นคงสังคมและชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงพร้อมที่จะร่วมมือและสนับสนุน อภ. โดยจะใช้ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเชิงวิศวกรรม การบริหารโครงการ และการก่อสร้างโรงงาน รวมถึงข้อมูลความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจพลังงานครบวงจรมาช่วยขับเคลื่อนโครงการฯ นี้ให้สำเร็จลุล่วง เพราะการสนับสนุนให้เกิดการผลิตยาได้เองภายในประเทศนี้ช่วยสร้างความมั่นคงของประเทศให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามนโยบายของประเทศไทย 4.0 และรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับนิคมฯ WECOZI มีพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ ทาง ปตท.จะพัฒนา 500 ไร่เป็นพื้นที่รองรับโครงการ NEW S CURVE ของรัฐบาล โดยนอกจากจะร่วมมือกับ อภ.แล้ว ยังพิจารณาเรื่องการลงทุนและร่วมทุนในธุรกิจเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ของประชาชน ส่วนอีกพื้นที่ 1,000 ไร่นั้น ทาง บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จะเป็นผู้ใช้พื้นที่ โดยทาง ปตท.จะเสนอต่อคณะกรรมการระเบียงเศรษฐกิจหรืออีอีซี ในการนำโครงการ WECOZI เป็นนิคมฯ อีอีซี เพื่อให้นักลงทุนได้ประโยชน์สูงสุดก่อให้เกิดการลงทุนอย่างรวดเร็ว.-สำนักข่าวไทย