ทำเนียบฯ 23 ม.ค.-ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแก้ไข พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ให้มีความเหมาะสม ลดความซับซ้อนการทำงาน และมีมติให้องค์การจัดการน้ำเสีย มาอยู่ในภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ให้มีความเหมาะสม โดยหลักการ คือ อนุญาตให้องค์กรต่างประเทศ ต่างชาติ ต่างด้าว เข้ามาดำเนินการอนุญาโตตุลาการ ได้ในประเทศไทย โดยไม่ต้องขออนุญาต เพื่อลดกระบวนการวุ่นวายที่ซับซ้อน และสร้างความน่าเชื่อถือจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการของทุกประเทศทั่วโลก และมีความเป็นสากล
“ที่ผ่านมาเวลามีข้อพิพาท ปัญหาคืออนุญาโตตุลาการที่เป็นคนต่างด้าว จะเข้ามาปฎิบัติภารกิจในประเทศไทย เพื่อหาข้อสรุปในข้อพิพาท ปรากฎว่าเข้ามาด้วยความยากลำบาก แม้จะมีกฎหมายแรงงาน แต่ก็ต้องไปขออนุญาต ทำให้กระบวนการวุ่นวายซับซ้อน และต้องเปลี่ยนไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ ทำให้บรรดาหลักฐานต่าง ๆ ที่อยู่ในประเทศไทย ก็ต้องเดินทางออกนอกประเทศไปด้วย ซึ่งถือว่าไม่สะดวก วันนี้ขอแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้มีความเหมาะสม โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาดำเนินการอนุญาโตตุลาการในประเทศได้” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่างกฤษฎีกาการจัดตั้งองค์การจัดการน้ำเสีย หรือ อจน. ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดอยู่ภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่หน่วยงานที่เป็นหน่วยย่อย คือ ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน เป็นหน่วยงานซึ่งกระจายลงไปอยู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งยังคงมีการทำงานที่ไม่สอดคล้องกัน จึงมีมติให้องค์การจัดการน้ำเสียมาอยู่ในภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ระบบน้ำทั้งระบบอยู่ภายใต้การทำงานในหน่วยงานเดียวกันและบูรณาการทุกภาคส่วนให้สอดคล้องและเป็นตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชน
พล.ท.สรรเสริญ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ พ.ศ.2542 โดยหลักการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ในการจัดระเบียบและเก็บค่าที่จอดรถยนต์ได้บริเวณในพื้นที่ที่เป็นทางหลวงที่เป็นพื้นที่รับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และไม่เป็นพื้นที่ห้ามจอดตามระเบียบจราจร ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเก็บได้สามารถนำไปจัดสรรพัฒนาพื้นที่ของตนเอง.-สำนักข่าวไทย
