สำนักงาน ก.พ. 19 ม.ค. – รองนายกรัฐมนตรีร่วมกำหนดแผนประชารัฐปี 61 ผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพเงินลงทุน 4 แสนล้านบาท พัฒนาบุคลากรรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เข้าถึงออนไลน์ทั้งการศึกษา การค้าขายสินค้าชุมชน ยืนยันไม่ได้ยุบคณะประชารัฐ แต่รวมกลุ่มงานให้กระชับ 3 กลุ่ม
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เพื่อพิจารณาแผนงานปี 2561 ของคณะทำงานสานพลังประชารัฐ 12 คณะ เพื่อให้การผลักดันมีประสิทธิภาพ จึงแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มงาน ทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มอบหมายให้นายกานต์ ตระกูลฮุน รับผิดชอบ การพัฒนาคุณภาพคน มอบหมายให้นายศุภชัย เจียรวนนท์ หัวหน้ากลุ่มดูแล กลุ่มลดความเหลื่อมล้ำ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้ากลุ่ม โดยแต่ละคณะประชารัฐยังทำงานตามปกติเหมือนเดิม เพราะทุกกลุ่มเกี่ยวข้องงานทั้ง 3 ด้าน เพื่อให้งานประชารัฐกระชับมากขึ้น
ด้านการเพิ่มขีดความสามารถ (Thailand 4.0 ) ต้องผลักดัน BigBrother ให้เอกชนรายใหญ่เป็นพี่เลี้ยงเอสเอ็มอีเป้าหมาย 300 ราย จากเอสเอ็มอีที่มีรายได้เฉลี่ย 50 ล้านบาทต่อรายเพิ่มขึ้นเท่าตัว การตั้งบริษัทเพื่อทำ Online Booking Platform คิดค่าธรรมเนียมต่ำกว่าต่างชาติไม่เกินร้อยละ 10 ขณะที่ต่างชาติคิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 15-30 การส่งเสริม Mice จัดประชุมสัมมนาในเมืองรอง 9 พื้นที่ จูงใจให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้า ด้วยแนวทาง Tax Refund Counter ในเมืองเพื่อคืนภาษี Vat เป็นเงินสด และเดินหน้าแผนเนรมิตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้เป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของโลก เป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอยุธยาขยายตัว 10 เท่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า และมุ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวริมฝั่งโขง 7 จังหวัด เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในอีสานติดกับ สปป.ลาว ดึงรายได้เข้าท้องถิ่น ยอมรับว่าการท่องเที่ยวกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเร็วที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy ) ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก จึงเสนอให้แก้ไขกฎหมาย การตั้งโรงงานใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบหลักทุกพื้นที่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ “ขจัดข้อยกเว้นโรงงานตั้งอยู่เดิมระยะ 50 ก.ม.ต้องให้ความยินยอม” เพื่อลงทุนได้ตามแผนงาน การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลราย นำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นที่ไม่ใช้น้ำตาลทรายและจัดสรรวัตถุดิบให้เพียงพอต่ออุตสาหกรรมชีวภาพ เพื่อเสนอ ครม.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ส่งเสริมการตั้งเขตอุตสาหกรรมชีวภาพในพื้นที่ EEC ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท ระหว่างปี (2560-2564) เขตอุตสาหกรรมชีวภาพภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์,กำแพงเพชร) เงินลงทุน 62,500 ล้านบาท ระหว่างปี 2560-2569 เขตอุตสาหกรรมชีวภาพภาคอีสานเตอนกลาง (ขอนแก่น) เงินลงทุน 35,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2560-2569 การผลักดันโครงการพัฒนาเศรษฐกิจเคมีชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาเดือนกุมภาพันธ์นี้ นับเป็นเงินลงทุนระยะ 10 ปี ประมาณ 381,231 ล้านบาท เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เกษตรกรกว่า 2 เท่าตัว เกิดการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมากกว่า 85,000 บาทต่อคนต่อปี
ด้านการพัฒนาบุคคลากร มุ่งพัฒนาเกษตรกรให้เป็น SmartFarmer ผ่านศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพ การพัฒนา จัดสรรที่ดินทำกินให้เพียงพอ ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 จากปัจจุบัน 85 แปลง ลดต้นทุนการผลิตร้อยละ 20 นักเรียนอาชีวะ 100,000 คนต่อปี การปั้นนักเรียนต้นแบบอัจฉริยะ 4,000 คนต่อปี เพื่อรองรับความต้องการแรงงานคุณภาพจำนวนมากของ EEC กำหนดคัดเลือกเพื่อพัฒนาผู้นำด้านเทคโนโลยีจากพื้นที่เป้าหมายร้อยละ 15 ของพื้นที่ สพฐ.หรือประมาณ 4,700 โรงเรียนทั่วประเทศ ของบประมาณสนับสนุนพัฒนาครู 4.0 ร้อยละ 10 ของครูอาชีวะ เสนอขอให้ออก ม.44 สมทบเงินกองทุนตั้งต้น 100 ล้านบาท การนำระบบสื่อดิจิทัลมาใช้ในการศึกษา
สำหรับเป้าหมายการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นทุกจงหวัดที่มี Story อย่างน้อยภาคละ 4 จังหวัด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสนิค้าท้องถิ่น ผ่านแนวคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เติมจากวัฒนธรรมเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น ทั้งสินค้าโอทอป อาหารเด่น โครงการ Amazing thai Host ด้วยการจ้างผู้เกษียณอายุในท้องถิ่น อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 1,700 ราย ช่วยกระจายรายได้ 195 ล้านบาทสู่ท้องถิ่น เมื่ออินเทอร์เน็ตประชารัฐเข้าถึงชุมชน เข้าถึงทุกหมู่บ้านจึงต้องแนะนำเยาวชนดึงความรู้ออนไลน์มาใช้ประโยชน์ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การสร้างตลาด เพิ่มรายได้ในชุมชน จึงต้องเร่งโปรโมทการใช้อี-คอมเมิร์ชให้ได้รับความนิยม.-สำนักข่าวไทย