นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ฝนตกชุกตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท ไล่เรื่อยลงมาจนถึงกรุงเทพมหานครตลอดสัปดาห์ทำให้มีปริมาณน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์มากถึง 2,147 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและมีน้ำแม่น้ำสะแกกรังจากจังหวัดอุทัยธานีที่มีปริมาณสูงขึ้นเช่นกันไหลมาบรรจบอีก 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำที่จะเข้าเขื่อนเจ้าพระยามีมากถึง 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งหากมีฝนตกต่อเนื่องและน้ำเหนือไหลลงมาเพิ่มมีแนวโน้มว่า จะเกินปริมาณเก็บกักของเขื่อนเจ้าพระยา อีกทั้งขณะนี้ไม่สามารถรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งตะวันออกและตะวันตกเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมารับจนเต็มศักยภาพ กรมชลประทานจึงได้ขออนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพิ่มปริมาณการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
รองอธิบดีกรมชลประธานกล่าวว่า ประชาชนไม่ต้องกังวลว่า น้ำจะล้นเขื่อนหรือบ่าท่วมคันกั้นน้ำออกไป เนื่องจากศักยภาพของเขื่อนรับได้ 2,800-3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เมื่อฝนจะยังคงตกต่อเนื่องและน้ำเหนือจะมาเพิ่มจึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกทะเลเพื่อพร่องน้ำรอรับฝนและน้ำใหม่ที่จะเข้าเขื่อน การเพิ่มปริมาณการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจะทำให้พื้นที่นอกคันกั้นน้ำที่มีน้ำล้นตลิ่งอยู่เดิมเช่น อำเภอเมือง พรหมบุรี และอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมกข์ จังหวัดอ่างทอง อำเภอบางบาลและอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีระดับน้ำสูงขึ้น 25-75 เซนติเมตร และจะมีพื้นที่ใหม่ที่จะเริ่มมีน้ำล้นตลิ่งเช่นที่ บางตำบลของอำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท
สำหรับแนวทางการผันน้ำเข้าทุ่ง กรมชลประทานพร้อมที่จะดำเนินการเช่นที่ทุ่งผักไห่ บางบาง แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการยืนยันจากทางอำเภอและจังหวัดว่า เกษตรกรเกี่ยวข้าวหมดแล้วทุกแปลงและพร้อมที่จะให้ปล่อยน้ำเข้าไปเก็บกักได้ทั้งเพื่อบรรเทาภาวะน้ำล้นตลิ่งและมีน้ำเก็บไว้ใช้ในฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป
ส่วนที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ฝนที่ตกลงมาในพื่นที่ตอนบนทำให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนมากเช่นกันและหากไม่เพิ่มปริมาณการระบายจะเต็มเขื่อนภายใน 2-3 วันนี้ กรมชลประทานจึงเพิ่มการระบายจากวันละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเป็น 60 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะใช้เขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ พระนครศรีอยุธยาเป็นเครื่องมือบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนคือ ระบายท้ายเขื่อนพระรามหกไม่เกิน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีซึ่งเขื่อนพระรามหกมีศักยภาพรับได้ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ฃณะนี้กรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรีให้ติดตามสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทานอย่างใกล้ชิดและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบให้เก็บของขึ้นที่สูง
รองอธิบดีกรมชลประทานย้ำว่า การเพิ่มปริมาณการระบายน้ำทั้งที่เขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะค่อยๆ ปรับเพิ่มเพื่อให้ประชาชนรับสถานการณ์ได้ทัน-สำนักข่าวไทย