อย. 17 ม.ค.–อย.จับยาทรามาดอลปลอม ย่านปทุมธานี ยึดของกลางได้มูลค่า 5 ล้านบาท เตรียมขยายผลปิดช่องทางลักลอบจำหน่าย ห่วงนำยาไปใช้เป็นส่วนผสมยาเสพติด
ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (รองเลขาธิการ อย.) แถลงข่าวการจับกุมแหล่งผลิตยาปลอมในกลุ่มยาทรามา ดอล ว่าจากการติดตามร่วมกับ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามและสสจ.ปทุมธานี ลงพื้นที่บุกจับบริษัท เบสซี่แอรอน จำกัด เลขที่ 11/79 หมู่ที่ 20 ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุทธานี พบว่าแม้เป็นบริษัทยาถูกกฎหมาย
แต่พบว่าพฤติกรรมลักลอบ ผลิตยาไม่มีเลขทะเบียน บรรจุในแคปซูสีเขียว-เหลือง กลุ่มยาแก้ปวดทรามาดอล หลังโรงงานและพบมีการติดฉลาก ระบุชื่อว่า PACMADOLซึ่งเป็นชื่อยาที่ได้มีการยกเลิกการผลิตแล้ว และมีจำนวนมากถึง 3 แสนเม็ดและแคปซูลเปล่าอีกจำนวนมากบรรจุในถุง พลาสติกหลายถุง จำนวนถุงละ1,000 เม็ด พร้อมสารในการผลิต โดยปัจจุบัน ยาทรามาดอล ถือเป็นยาที่ อย.มีมาตรการควบคุมเข้มงวดในการผลิตและจำหน่าย โดยต้องมีการขออนุญาต และการจำหน่ายยาก็มีการจำกัดแค่ 20 เม็ด ต่อผู้ป่วย 1 คนและห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีและต้องมีการจัดทำบัญชีการยาในการขายยารายงานมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
ภก.สมชาย กล่าวอีกว่า จากการสืบสวนเบื้องต้นคาดว่า การลักลอบการผลิตยาทรามาดอลนี้ จะเป็นการลักลอบจำหน่ายในช่องทางอินเตอร์เน็ต และสื่อโซเชียล จึงได้อายัดเครื่องจักรการผลิตยาและวัตถุดิบทั้งหมดไว้ พร้อมเตรียมเชิญเจ้าของบริษัทมาให้ข้อมูลถึงที่มาของยาทั้งหมด โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหายรวมกว่า 5 ล้านบาท สำหรับโทษที่ผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวจะได้รับ ตาม พ.ร.บ.ยา 2510 ในข้อหาผลิตยาปลอม ตามม.72(1)ต้องระวางโทษจำคุก 3 ปีถึงตลอดชีวิต ปรับ 10,000-50,000 บาท ,ผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ตำรับยา ม.72 (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาทและผลิตยานอกสถานที่ที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต ฝ่าฝืนม .19 ต้องระวางโทษปรับ 2,000-5,000 บาท
สำหรับยาทรามาดอล ถือเป็นกลุ่มยาแก้ปวดให้ประสิทธิภาพแรงกว่ายาพาราเซตามอลทั่วไป จะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหรือรักษามะเร็ง เพื่อระงับอาการปวด ซึ่งต้องมีการควบคุมโดสยาในการรับประทาน เพราะยาทรามาดอล ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลาง อาจทำให้ติดได้ง่าย ซึ่งทำให้มีคนนำประโยชน์ทางยาไปใช้ในการผลิตยาเสพติด .-สำนักข่าวไทย