ก.ต่างประเทศ 10 ต.ค. – นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสุดยอด ACD เน้นย้ำร่วมกันประสานจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลาย มุ่งสู่เอเชียที่เป็นหนึ่งเดียว ก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง ผลักดัน 6 เสาหลัก ACD เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ พร้อมเสนอไทยเป็นประเทศผู้นำในเสาหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเชื่อมั่นในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ครั้งที่ 2 วันนี้ (10 ต.ค.) ว่า การประชุมสุดยอด ACD ครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญไปสู่ความร่วมมือและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภูมิภาค ภายใต้กรอบความร่วมมือที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
“ที่สำคัญคือ ความหลากหลายในพลังความเป็นมิตรจะเป็นการส่งสัญญาณสำคัญต่อประชาคมโลกว่า เอเชียพร้อมเติบโตอย่างครอบคลุมและเป็นเอกภาพ เพื่อไปสู่การเป็นประชาคมเอเชีย ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลก เอเชียถือว่ามีศักยภาพที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก โดยระดมจุดแข็งของทุกประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง ยังยืนแห่งเอเชีย เพื่อสร้างความเจริญเติบโตให้กับประชาคมโลก” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ยังเป็นการประกาศเจตนารมณ์ของผู้นำ เพื่อร่วมมือกันในทุกด้าน รับกับความท้าทายใหม่ๆ ของโลกในอีก 14 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีการผลักดันความร่วมมือใน 6 เสาหลักของ ACD ประกอบด้วย ความสัมพันธ์รระหว่างความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน ความเชื่อมโยง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และการส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. 2030
“สิ่งสำคัญของทุกความร่วมมือ คือ การนำผลการประชุมสู่การปฎิบัติอย่างแท้จริง ไม่ทำงานซ้ำซ้อน แต่ส่งเสริมและเชื่อมโยงการทำงานระหว่างกัน ไทยอยู่ในฐานะประเทศที่มีภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวยในการเชื่อมโยง ไทยจึงยินดีที่จะเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญของการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความท้าทาย ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน การบริหารจัดการน้ำ เทคโนโลยีสีเขียว และเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อความยั่งยืนของเอเชีย และตอบรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
“ไทยจึงภูมิใจนำเสนอเรื่องการส่งเสริมเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน ในการใช้ศักยภาพที่มีอยู่ และเงินทุน ACD ที่มี ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไทยขอเสนอตัวเป็นประเทศผู้นำในเสาหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยได้ผลักดันมาตลอด ทั้งการเป็นประธาน ACD และประธาน G 77 ที่ชูเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตามแนวทางของประเทศภูฏาณ ที่ส่งเสริมการพัฒนาและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายกรัฐมนตรี ขอบคุณประเทศคูเวต ที่จัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACD อย่างเป็นทางการขึ้น เป็นกลไกลที่สำคัญต่อการสร้างการพัฒนาที่ต่อเนื่องและยั่งยืน นอกจากนี้ ควรเร่งหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACD เพื่อให้ความร่วมมือเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
“ขอให้การประชุมครั้งนี้เป็นการร่วมกันประสานจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิก มุ่งสู่เอเชียที่เป็นหนึ่งเดียว ก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนแห่งเอเชีย ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยไม่ทิ้งใครไว้ด้านหลัง มั่นใจว่า การประชุมทั้ง 2 ครั้ง จะทำให้กลไกพัฒนา ACD ยั่งยืน และสร้างประวัติศาสตร์ให้ ACD ในการพัฒนาก้าวไกลต่อไป” นายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับการประชุมสุดยอด ACD ครั้งต่อไปจะมีขึ้นในปี 2561 ซึ่งอิหร่านจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเข้ามาทำหน้าที่ประธาน ACD และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีACD ครั้งที่ 15 ที่กรุงอาบูดาบี ในเดือนมกราคม 2560
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะกล่าวเปิดการประชุมสุดยอด ACD ครั้งที่ 2 ได้เปิดวีดิทัศน์ของนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ที่กล่าวถึงจุดประสงค์และความสำคัญของงาน ACD พร้อมขอบคุณประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ โดยเชื่อว่าประเทศสมาชิก ACD จะสามารถช่วยกันส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งกล่าวถึงวิสัยทัศน์ ACD 2030 ว่าจะเป็นแผนการดำเนินการเพื่อคนรุ่นใหม่ ในการพัฒนาเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ.-สำนักข่าวไทย