กทม.10 ม.ค.-แนะสิ่งเล็กๆที่สร้างลูก”จากสิ่งใกล้ตัวด้วยอุปกรณ์ ศูนย์บาท การเล่นจ๊ะเอ๋ในเด็กต่ำกว่า 2 ขวบส่งผลพัฒนาการทางสมองอย่างคาดไม่ถึง”
ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาเด็ก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และภาคีเครือข่ายต่างๆ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้ผู้ปกครองเห็นความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็กจากเรื่องใกล้ตัวที่ทำได้ง่าย มีพ่อแม่นำลูกหลานมาร่วมกิจกรรมโดยมี แพทย์ด้านพัฒนาการเด็กมาให้ความรู้และแนะนำวิธีการส่งเสริม พัฒนาการทางสมองของ ลูก
โดยได้จัดคู่มือพัฒนาลูกจากสิ่งใกล้ตัว เช่น นิทานจะเอ๋ หรือการยกมือปิดหน้าแล้วจะเอ๋กับลูก เป็นสื่อที่ผู้ปกครองทุกคนทำได้เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว การอ่านนิทานเป็นตัวอย่างง่าย ๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการลูก โดย สสส. จัดทำสื่อรณรงค์แนวทางส่งเสริมพัฒนาการออกมาในรูปแบบคลิปออนไลน์และภาพยนตร์โฆษณาจำนวน 5 เรื่องโดยจะถูกส่งมอบกระจายไปยังศูนย์พัฒนาเด็กเล็กโรงพยาบาลเครือข่ายด้านเด็กต่างๆทั่วประเทศและเปิดให้ผู้ปกครองดาวน์โหลดฟรีด้วยคิวอาร์โค้ด www. khunlook.com และ Facebook Page “สิ่งเล็กๆที่สร้างลูก”
ทั้งนี้ มีข้อมูลผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยปี 2558 – 2559 โดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทยสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพบว่า ผู้ใหญ่ในครัวเรือนอย่างปู่ย่าตายายมีบทบาทสูงต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กในช่วงอายุ3-5ปี ถึง ร้อยละ 92.7
ขณะที่บทบาทแม่ในการส่งเสริมการเรียนรู้อยู่ที่ร้อยละ 62.8 ตามด้วยบทบาทของพ่อร้อยละ 34 ที่น่าสนใจคือพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า5ปีที่เล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือแท็บเล็ตเครื่องเล่นเกมมีสูงถึง ร้อยละ 50 และเกือบ 7ใน 10 ของเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะเด็กใน กทม.และภาคใต้ ซึ่งการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่อายุยังน้อยอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมาธิสั้นได้
นอกจากนี้ยังพบช่องว่างของพัฒนาการเด็กเล็กตามระดับการศึกษาของแม่และฐานะทางเศรษฐกิจโดยพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีหนังสือสำหรับเด็กอย่างน้อย 3 เล่มมีเพียงร้อยละ 41.2 เท่ากับว่าอีกร้อยละ 59 มีหนังสือเด็กในบ้านไม่ถึง 3 เล่ม โดยเด็กที่ร่ำรวยมีหนังสือสำหรับเด็กในสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มที่ยากจนถึง 3 เท่า อาจทำให้การเลี้ยงดูและ พัฒนาการทางสมองของเด็กแตกต่างกัน .-สำนักข่าวไทย