กทม. 9 ม.ค. – วันพรุ่งนี้ (10 ม.ค.) คณะกรรมการค่าจ้างจะประชุมเพื่อเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2561 ทำให้วันนี้ฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างต่างออกมาแสดงจุดยืนต่อค่าจ้างใหม่
หลังการประชุมบอร์ดค่าจ้างนัดตัดเชือกล้มเหลว ไม่ครบองค์ประชุม จนยืดเยื้อเลื่อนประชุมข้ามปี ที่สุดปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานบอร์ด ยืนยันฤกษ์ดี 10 มกราคม ต้องได้ข้อสรุปค่าจ้างขั้นต่ำอัตราใหม่ให้ทันสิ้นเดือนนี้ ทำให้ฝ่ายผู้ใช้แรงงานอย่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการด่วน ประกาศจุดยืน การปรับขึ้นต้องเป็นธรรม เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพของคนทำงานและครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักสิทธิมนุษยชน และต้องเท่ากันทั้งประเทศเพื่อลดความเลื่อมล้ำ เพราะค่าครองชีพแต่ละจังหวัดไม่ต่างกัน และรัฐควรกำหนดโครงสร้างค่าจ้างอนาคตให้ชัดเจน
ฝ่ายนายจ้างแม้ใจไม่อยากให้ขึ้น แต่ก็รับลูกว่ารับได้กับค่าแรงใหม่ แต่ต้องไม่เท่ากันทั้งประเทศ เพราะสภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในแต่ละพื้นที่ต่างกัน ทั้งหวั่นกระทบผู้ประกอบการรายย่อยในระบบเอสเอ็มอีและภาคเกษตรที่มีแรงงานกว่า 15 ล้านคน
ไทยเริ่มมีค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2516 อัตราอยู่ที่ 12 บาทต่อวัน และถูกปรับขึ้นเรื่อยๆ แบบลอยตัว เมื่อปี 2555 ปรับแบบเขตพื้นที่ นำร่อง 300 บาท ใน 7 จังหวัดกรุงเทพและปริมณฑล จนกระทั่งปี 2556 ปรับเป็น 300 บาทเท่ากันทั้งประเทศตามนโยบายประชานิยมสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ //ก่อนถูกแช่แข็งจนถึงปี 2560 ค่าจ้างถูกปรับเป็น 300-310 บาท
นักวิชาการ ชี้การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำควรเท่ากันทั้งประเทศ ไม่ลอยตัวแบบเขตพื้นที่ เพราะเป็นเรื่องของความยุติธรรม รัฐต้องเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนมากกว่าเอื้อนายทุนเช่นที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถปรับได้ถึง 60 บาท โดยไม่กระทบต่อเศรษฐกิจ
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ถือเป็นของขวัญชิ้นสำคัญสำหรับผู้ใช้แรงงานที่ปัจจุบันมีกว่า 37.72 ล้านคน แม้อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เพราะค่าครองชีพทะยานต่อเนื่อง แต่การได้ปรับขึ้นถือเป็นยาใจที่ช่วยผลักดันให้พวกเขามีกำลังทำงาน ขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิมากขึ้น. – สำนักข่าวไทย