กระทรวงศึกษาฯ 8 ม.ค.-ทีมกฎหมายกระทรวงศึกษาฯ พบคณะกรรมการกฤษฎีกา เร่งเเก้คำสั่ง 19/2560 ลดความขัดเเย้ง สพท.-กศจ. พร้อมเสนอเเก้กฎหมายลูกเสือ สรรหาเลขาธิการคนใหม่ทำงานเต็มเวลา
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ถึงความคืบหน้าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญตามราชอาณาจักรไทยเเก้คำสั่งคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ ที่ 19/2560 เรื่องการมอบอำนาจบรรจุแต่งตั้งให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) เพื่อเเก้ปัญหาความขัดเเย้งระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาเเละศึกษาธิการจังหวัด ว่า วันนี้ทีมกฎหมายของกระทรวงฯ ได้เดินทางไปพบกับคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังได้ยื่นเสนอปรับเเก้คำสั่งไปยังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไปเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาเพื่อดำเนินการปรับเเก้คำสั่งต่อไป ซึ่งจะเเก้ในส่วนที่มีปัญหาทั้งหมดคือข้อที่ 13 ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา 53(3) และ(4)แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547เป็นของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)จากเดิมเป็นอำนาจของ สพท. โดยมาตรา 53(3) เป็นอำนาจของผู้อำนวยการโรงเรียน เเต่เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่าง ศธจ.และผอ.สพท. จึงมีการระดมจาก2 หน่วยงาน
โดยได้ข้อสรุปว่า จะมีการเสนอแก้ไขคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 โดยให้ ศธจ.เป็นผู้แทน ศธ.ทำหน้าที่ประสานงาน บูรณาการการศึกษาในระดับจังหวัด ซึ่งได้มีการเสนอตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษาและคณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุดมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ศธจ.เป็นเลขานุการ สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคลจะมีผอ.สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการ พร้อมผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากส่วนต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) อยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมาย กำหนดสัดส่วนผู้แทนให้ชัดเจน
ทั้งนี้ การบริหารงานบุคคลในส่วนของอำนาจตามมาตรา 53 ให้ ผอ.สพท. เป็นผู้ลงนามตามมติกศจ. ส่วน ผอ.ร.ร.ลงนามตามมติ กศจ. ซึ่ง ผอ.รร.มีอำนาจลงนามอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครูที่ไม่มีวิทยาฐานะ ตั้งแต่การแต่งตั้ง เลื่อนขั้นเงินเดือน หรืออื่นๆที่เป็นมติของกศจ.ส่วนครูที่มีวิทยฐานะแล้ว เป็นอำนาจของ ผอ.สพท.พิจารณา ขณะที่ในส่วนของ กศจ.มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติตามที่ผอ.สพท. เสนอ ซึ่งตรงนี้มีการคานอำนาจ กรณีที่ กศจ.เห็นเรื่องที่ สพท.เสนอมาไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย กศจ. ก็จะไม่อนุมัติ หรือขอให้ชี้แจงเพิ่มเติม เป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่างผอ.สพท.และกศจ. การพิจารณาเรื่องการบริหารงานบุคคลจะจบสุดท้าย ที่คณะกรรมการชุดนี้
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า ได้มีการเสนอเเก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานลูกเสือเเห่งชาติเพราะเดิมเป็นพระราชบัญญัติเก่า ขึ้นกับศึกษาธิการจังหวัดเก่า ทำให้บางตำเเหน่งในคณะกรรมการลูกเสือเเก่งชาติมีไม่ตรงกัน รวมถึงเลขาธิการสำนักงานลูกเสือเเห่งชาติ ที่เดิมเป็นรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เเต่เนื่องจากรองปลัดไม่มีเวลา จึงเสนอขอใช้คำสั่งคสช.ขอบุคคลเข้าทำงานเเทนเต็มเวลา โดยใช้วิธีสรรหา จะได้ทำให้การทำงานของลูกเสือดีขึ้น .-สำนักข่าวไทย