กรุงเทพฯ 7 ม.ค.- นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากฯ
แนะก.พลังงาน
ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นใหม่ ยกเลิกค่าปรับคุณภาพกำมะถัน ที่ใช้มานาน
15 ปี ชี้โรงกลั่นฯคืนทุนและมีกำไรสูงแล้ว พร้อมแย้งปรับขึ้นค่าการตลาดน้ำมันขายปลีกไม่ควรทำช่วงนี้
ประชาชนมีรายจ่ายเพิ่ม 6,500 ล้านบาท/ปี
นายอนุสรณ์ กล่าว ว่า จากกรณีกระทรวงพลังงาน กำลังศึกษาให้บริษัทน้ำมัน
ปรับค่าการตลาดขายปลีกที่เหมาะสม จาก1.50บาทต่อลิตร เป็น1.70บาทต่อลิตร
ฟังดูแล้วตกใจ ถ้าจะต้องดำเนินการในช่วงนี้ เพราะนั้นหมายความว่า
ราคาขายปลีกจะปรับขึ้นทันที20สต.ต่อลิตร
แม้อาจจะไม่มาก แต่หมายถึง ผู้ใช้น้ำมัน ต้องจ่ายค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นทันทีราว 6,500ล้านบาทต่อปี ก่อภาระให้กับประชาชนทันที นอกจากนั้น
ราคาสินค้าอื่นๆก็มีโอกาสปรับขึ้น เพราะค่าขนส่งต่างๆจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
“ที่จริงเรื่องค่าการตลาด บริษัทน้ำมัน
ได้เพียรพยายามขอปรับเพิ่ม มานานหลายปี
เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆในการจำหน่ายน้ำมันเพิ่มขึ้นทุกๆปี กระทรวงพลังงาน
ได้ศึกษาเรื่องนี้มานาน และกำลังพิจารณาว่าอาจจะยอมให้ปรับเพิ่มขึ้นได้
แต่สิ่งหนึ่งที่การศึกษาควรพิจารณาด้วย คือยอดขายน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก ใน2ปีที่ผ่านมา เพราะราคาน้ำมันลดลงมาก แต่ยอดการใช้น้ำมันทั้งแก๊สโซฮอล์
และดีเซล ปรับสูงขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่บริษัทน้ำมัน แน่นอน รายได้
และกำไร ก็มากขึ้นตามมา เกิดแรงจูงใจในการเร่งหาสถานที่
เปิดสถานีบริการใหม่ๆเพิ่มขึ้น จะเห็นว่ามีสถานีบริการเกิดใหม่จำนวนมากทั่วประเทศ
เพราะถ้าธุรกิจไม่ดี เป็นไปไม่ได้ ที่บริษัทน้ำมันต่างๆจะแย่งกันเปิดแข่งกันแบบนี้”นายอนุสรณ์
กล่าว
นอกจากนี้ถ้าไปดูผลประกอบการ
ของบริษัทน้ำมันก็จะพบว่าดีมาก มีกำไรจำนวนมาก แสดงว่าค่าการตลาดและยอดขายปัจจุบัน
ยังอยู่ได้สบายๆ ดังนั้นการยอมให้ บริษัทน้ำมัน ปรับเพิ่มค่าการตลาด
ยังควรทำในเวลานี้หรือไม่ ทางกระทรวงพลังงานควรพิจารณา ผลกระทบให้รอบด้าน
นายอนุสรณ์ ระบุด้วยว่าสิ่งที่กระทรวงพลังงานควรทำมากกว่า
คือการเจรจากับ โรงกลั่นน้ำมัน ว่าสูตรราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่น ควรมีการทบทวน และ
ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เพราะสูตรเหล่านี้มีการใช้เป็นเวลานานมากแล้ว
ตัวอย่างเช่น น้ำมันดีเซล ปัจจุบัน อิงกับราคาประกาศน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์ (MOP หรือ Mean of Platt)คุณภาพกำมะถัน 500 ppm และมีค่าปรับคุณภาพกำมะถันให้เป็น 50 ppm ตามมาตรฐานไทย ควรจะปรับลดลงได้หรือไม่
เช่น 20-30สตางค์ต่อลิตร
เพราะค่าปรับคุณภาพทางภาครัฐในช่วงนั้น ได้ยินยอมให้มีได้ เพราะโรงกลั่นต้องลงทุน
สร้างหน่วยกำจัดกำมะถันขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้เดินเครื่องมาเป็นเวลานานแล้วกว่า15ปี ปัจจุบันได้คืนทุนหมดแล้ว
จึงถึงเวลาที่โรงกลั่นควรจะคืนส่วนนี้ให้ผู้ใช้น้ำมัน ซึ่งถ้าทำได้
จะช่วยให้ราคาขายปลีกของดีเซลลดลงทันที20-30สตางค์ต่อลิตร ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ระดับหนึ่ง
การปรับลดนี้จะทำให้รายได้ของโรงกลั่นลดลงรวม 5 โรงกลั่นประมาณ 4,400-6,600ล้านบาทต่อปี
แต่ถ้าเทียบกับยอดขายของโรงกลั่นทั้งหมดหลายแสนล้านบาทต่อปีถือว่าน้อยมาก โรงกลั่นจะมีรายได้ลดลงบ้างเฉลี่ยกันไปตามปริมาณการผลิตดีเซล
“ถ้าโรงกลั่นไม่เห็นด้วย
ก็น่าจะมีการพิจารณา ปรับสูตรอ้างอิง จาก MOP 500 ppm เป็น MOP 50 ppm แทน และไม่ต้องมีค่าปรับคุณภาพ
ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถึงแม้ว่า โรงกลั่นจะอ้างเสมอว่า MOP 50 ppm ยอดซื้อขายแต่ละวันน้อย
ไม่เหมาะกับเอามาใช้เป็นราคาอ้างอิง เพราะแท้จริงกลัวว่าถ้าถูกนำมาใช้ราคาดีเซล
จะลดลงมาก กระทบต่อผลประกอบการมาก”นายอนุสรณ์กล่าว
นายอนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า กระทรวงพลังงานระบุเสมอว่าการค้าขายน้ำมันเป็นตลาดเสรี
ไม่มีการแทรกแซง แต่จากประสบการณ์ รัฐสามารถเข้ามา
ดูแลให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนได้เสมอ
เพราะรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทน้ำมันหลายแห่ง
มีตัวแทนของรัฐเข้าไปเป็นกรรมการบริษัทเหล่านั้น
ถ้ามีแนวทางให้บริษัทน้ำมันทบทวนสูตรราคาน้ำมัน ก็น่าจะทำได้
เชื่อว่าบริษัทน้ำมันต่างชาติ ก็จะให้ความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันเช่นกัน
และถ้าโรงกลั่นของบริษัทไทยมีการปรับสูตรราคา โรงกลั่นของบริษัทต่างชาติ ก็จะมีการปรับสูตรด้วยเช่นกัน
เพราะจำเป็นต้องแข่งขันซึ่งกันและกัน
นายอนุสรณ์ย้ำด้วยว่า
เรื่องโครงสร้างราคาน้ำมัน มีความจำเป็นต้องถูกทบทวนเป็นระยะ
และควรเปิดเผยให้ประชาชนได้รับรู้ ถือว่าเป็นการเปิดเผยข้อมูลต่อสังคม
มีธรรมาภิบาล ในปัจจุบัน ค่าครองชีพของประชาชนปรับสูงขึ้นเรื่อยๆจึงเป็นหน้าที่ของทั้งรัฐ
และ บริษัทน้ำมันควรหันหน้ามาร่วมคิด หาทางลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน
มั่นใจว่าทุกบริษัทให้ความสำคัญ กับผู้ใช้น้ำมัน
ไม่คิดเอาเปรียบเพราะทุกบริษัทมีนโยบายในการเป็นประโยชน์ ต่อสังคม และ ประเทศชาติ
ทั้งนี้ โรงกลั่นฯในไทย มีทั้งหมด 6 โรงกลั่น โดย ในส่วนนี้ มี
ปตท.ถือหุ้นใหญ่ 3 โรงกลั่นฯได้แก่ บมจ.ไทยออยล์,บมจ.พีทีทีโกบอลเคมิคอล,บมจ.ไออาร์พีซี
ส่วนโรงกลั่นฯบางจาก มีรัฐถือหุ้นใหญ่ โดยกองทุนประกันสังคมและกระทรวงการคลัง
ที่เหลือ โรงกลั่นเอสโซ่ และโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมฯ เอกชนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ –สำนักข่าวไทย