กทม. 5 ม.ค. –นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า หลังจากที่อัยการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขอให้พิจารณาคดีลับหลังต่อไป 2 คดีแล้ว คือ คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบเอื้อประโยชน์เอกชนในการออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต และคดีร่วมทุจริตการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มกฤษดามหานคร โดยที่ผ่านมาศาลฎีกาฯ ได้เลือกองค์คณะมารับผิดชอบ 1 คดีแล้ว คือคดีแปลงภาษีสรรพสามิต ก็ต้องรอคำสั่งศาล ส่วนอัยการก็มีคณะทำงานรับผิดชอบอยู่แล้วเช่นกันทั้งอัยการคดีพิเศษ และอัยการคดีปราบปรามการทุจริต
เมื่อถามถึงการดำเนินการติดตามตัวนายทักษิณ และจำเลยที่หลบหนีคดีต่างๆ อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุก 5 ปี คดีจำนำข้าว และนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ที่อัยการสั่งฟ้องกรณีขับรถชนดาบตำรวจเสียชีวิตเป็นผู้ร้ายข้ามแดนนั้น นายธรัมพ์ กล่าวว่า อัยการเป็นหน่วยบังคับใช้ตามกฎหมายให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดมารับโทษ แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และเพราะเป็นประเด็นคาบเกี่ยวระหว่างประเทศที่ผู้ต้องคดีหรือจำเลยหลบหนีไปประเทศใดๆ ก็จะมีธรรมเนียมปฏิบัติ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่ต้องคำนึงถึงด้วยนอกเหนือจากกฎหมายของประเทศไทย เช่น การที่ตำรวจต้องขอความร่วมมือจากอินเตอร์โพล หรือองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ตำรวจสากล) และที่ประเทศนั้นๆ จะให้ความร่วมมืออย่างไร เพียงใดก็ไม่อาจก้าวล่วงได้
“ในอดีตอังกฤษ ก็ไมได้ส่งตัวนายปิ่น จักกะพาก ผู้ต้องหาคดีการเงินข้อหาลักทรัพย์ ยักยอกที่ ธปท.กล่าวหา ซึ่งปัจจุบันเวลาผ่านมากว่า 20 ปีคดีก็ขาดอายุความ แต่อีกกรณีหนึ่งที่สำเร็จคือนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษาผู้บริหารบีบีซี ผู้ต้องหาที่อัยการสั่งฟ้องคดียักยอกทรัพย์ เราขอประเทศแคนาดาเขาก็ส่งตัวให้ ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ เพราะยังต้องเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ ซึ่งแต่หน่วยงานก็ดำเนินการในส่วนของตนตามขั้นตอนของกฎหมาย” นายธรัมพ์ กล่าว
ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึง กรณีของนายทักษิณ เมื่อยื่นคำร้องขอดำเนินกระบวนการไต่สวนลับหลังตามกฎหมายใหม่แล้ว ไม่มีตัวก็ทำได้ ส่วนที่ 2 การเอาตัวจำเลยเข้ามาสู่กระบวนการก็มีหน่วยงานหลายส่วนร่วมรับผิดชอบซึ่งเชื่อว่าทุกหน่วยงานพยายามอย่างเต็มที่ โดยอัยการมีสำนักงานต่างประเทศดำเนินการเรื่องคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีอัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลาง ซึ่งเราจะกระทำได้ก็ต้องมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะพนักงานสอบสวน ที่จะโฟกัสหาที่อยู่ของผู้ต้องหาหรือจำเลย และกระทรวงการต่างประเทศที่จะช่วยหาได้ว่าจะต้องส่งปลายทางประเทศใดแล้วทั้งหมดรวบรวมเอกสารที่พร้อมส่งให้อัยการ เพื่อจะดำเนินการในฐานะผู้ประสานงานกลางต่อไปทั้งแบบประเทศที่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน หรือไม่มีก็ต้องปฏิบัติตามแบบวิธีของกระทรวงการต่างประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการติดตามตัวนายทักษิณนั้น ปัจจุบันมีคดีที่รอพิจารณาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 4 สำนวน ประกอบด้วยคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง 2 สำนวนคดีแก้กฎหมายแปลงภาษีสรรพสามิตเอื้อชินคอร์ปฯ , ทุจริตปล่อยกู้ของ ธ.กรุงไทยฯ ให้กับ บมจ.กฤษดามหานคร และ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง 2 สำนวน คือ ทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยหรือเอ็กซิมแบงก์ และทุจริตโครงการการออกสลากหวยบนดิน ซึ่งทั้งหมดได้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ ไว้แล้วเมื่อปี 2551-2555ซึ่งคดีไม่มีการนับอายุความระหว่างจำเลยหลบหนี โดยมีคดีที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุก 2 ปีนายทักษิณไปแล้วเมื่อปี 2551 อีก1 คดีการจัดซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ซึ่งศาลออกหมายจับไว้แล้วทั้งหมด
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เพิ่งถูกศาลฎีกาฯ พิพากษาจำคุก 5 ปี คดีจำนำข้าว เมื่อวันที่ 27 ก.ย.60 ที่ผ่านมา ซึ่งศาลออกหมายจับไว้แล้วโดยระหว่างการหลบหนีคดีไม่มีการนับอายุความ และนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหาที่อัยการมีคำสั่งให้ฟ้องคดีขับรถประมาทชนตำรวจ สน.ทองหล่อเสียชีวิตเมื่อปี 2553 นั้น ก็ได้ออกหมายจับแล้วรอติดตามตัวมายื่นฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ภายในอายุความ 15 ปีนับจากเกิดเหตุ ซึ่งอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ที่จะสิ้นสุดอายุความการฟ้องในวันที่ 3 ก.ย.2570ส่วนข้อหาและขับรถในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควรแก่ผู้ได้รับความเสียหาย และไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานในทันที หรือ ชนแล้วหนี ตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 5,000-20,000 บาทนั้นสิ้นสุดอายุความการฟ้อง 5 ปี ไปแล้ว โดยขาดอายุความไปเมื่อวันที่ 3 ก.ย.2560ที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย