กรุงเทพฯ 4 ม.ค. – การไลฟ์สดของสาววัย 18 ครั้งนี้ นักวิชาการและจิตแพทย์เห็นตรงกันว่า การไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดียอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้ โดยเฉพาะหากเป็นการไลฟ์พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบมากขึ้นในเด็ก รวมทั้งผู้ที่มีสภาพจิตใจเปราะบางอยู่แล้ว
ภาพเหตุการณ์หญิงสาววัย 18 ปี ในสภาพมึนเมา ปีนขึ้นไปบนสะพานพระราม 8 และพลัดตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเสียชีวิต ถูกถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การไลฟ์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กสามารถเข้าถึงง่าย และมีอิทธิพลมาก นักวิชาการชี้ว่า เมื่อก่อนสื่อออนไลน์เป็นภาพนิ่งและข้อความ แต่เมื่อมีการพัฒนาจนมาเป็นคลิปวิดีโอ การไลฟ์สด ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม การไลฟ์สดยังเป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถกลั่นกรองเนื้อหาได้ และยิ่งถ้าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็อาจเกิดการเลียนแบบได้ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนจะยิ่งมีโอกาสมากขึ้น ต่างจากการออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ที่สามารถคัดกรองเนื้อหาที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะได้
แต่ทุกอย่างย่อมมี 2 ด้านเสมอ เช่นเดียวกับสื่อสังคมออนไลน์ที่มีมุมดีมากมาย อย่างเช่น คลิปน้องมาร์ค นายหนังตะลุงตัวจิ๋ว ที่อัดคลิปขณะรอรับพี่ตูน บอดี้สแลม วิ่งถึง จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมเตรียมเงิน 20 บาท รอบริจาค แต่มัวห้ามคนอื่นไม่ให้ยืนล้ำเส้นขาว จนตัวเองบริจาคไม่ทัน คลิปนี้คนทั้งกดไลค์ กดแชร์ ชื่นชมน้องเป็นตัวอย่างเด็กดี
หรือจะเป็นการไลฟ์สดของพนักงานธนาคารสาว ขณะแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรเข้ามาหวังหลอกให้โอนเงินให้ เธอแกล้งคุยจนได้ข้อมูลและชื่อจริงของคนร้ายกลับมา มีคนชมขณะไลฟ์สดกว่า 600,000 คน ต่างแสดงความเห็นว่าเป็นคลิปที่มีประโยชน์
การไลฟ์สดผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า การควบคุมเนื้อหาทำได้ยาก ผู้ชมจึงเป็นตัวกรองอันดับแรกในการจะเลือกรับเนื้อหา มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตว่า การรับชมพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างการไลฟ์สดฆ่าตัวตาย อาจเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งพบว่ามีการเผยแพร่คลิปลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 1-2 ราย
ปัจจุบันคนไทยนิยมใช้โซเชียลมีเดีย ทั้งในการสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูล ซื้อขายสินค้า และรับชมรายการต่างๆ มีผลสำรวจว่า ไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก. – สำนักข่าวไทย