สธ.2 ม.ค.-กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แนะสูตรความสุข 10 ข้อสำหรับคนไทยเป็นแนวปฏิบัติในปี 2561 อาทิ ออกกำลังกายเป็นประจำ-ฝึกหายใจคลายเครียด-ฝึกมองโลกแง่ดี-มีเวลาให้ครอบครัว-เอ่ยปากชื่นชมคนรอบข้างอย่างจริงใจ การันตีชีวิตจะยืนยาว มีความสุข มีรอยยิ้ม และจิตใจดีขึ้น
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีใหม่2561นี้ ประชาชนไทยส่วนใหญ่จะถือเป็นฤกษ์ดีในการดำเนินชีวิตใหม่ ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้จัดทำบัญญัติสุข 10 ประการ เป็นสูตรแห่งความสุขของคนไทย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการศึกษาวิจัยทั้งในและต่างประเทศและข้อคิดเห็นจากปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อใช้เป็นแนวทางสร้างความสุขในชีวิตทั้งในระดับส่วนบุคคล ครอบครัวและชุมชน โดยข้อมูลการศึกษาวิจัยยืนยันว่าความสุขของคนเรานั้น ครึ่งหนึ่งถูกกำหนดโดยพันธุกรรม อีกร้อยละ 40 เป็นผลมาจากวิธีคิดและกิจกรรมที่ทำ และประมาณร้อยละ 10 เกิดขึ้นจากสถานการณ์ชีวิตในขณะนั้น ดังนั้นเราจึงสามารถเติมความสุขให้ชีวิตด้วยการปรับวิธีคิดและเลือกทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสุขได้ จากบัญญัติสุข 10 ประการ มีดังนี้
1.ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ช่วยให้รู้สึกสดชื่น แจ่มใสมีสมาธิ การตัดสินใจดีขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ระบบประสาทอัตโนมัติผ่อนคลาย สร้างและซ่อมแซมเซลล์สมองได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเพิ่มความสามารถทำงานของสมอง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น นอนหลับอย่างมีคุณภาพ เพิ่มสรรถภาพทางเพศ ลดความกังวลและลดซึมเศร้า ผลการวิจัยพบว่าการเดินออกกำลังกายทุก 1นาที จะช่วยยืดอายุขัยของชีวิตได้ถึง 2 นาที การออกกำลังกายให้ถือหลักว่า ทำได้แค่ไหน ให้ทำแค่นั้น และเลือกกิจกรรมที่เราสนุกสนาน เพลิดเพลิน อาจทำเองคนเดียวหรือทำกับเพื่อนก็ได้
2.ค้นหาจุดแข็งความถนัดและศักยภาพตัวเอง และพัฒนาจนเป็นความ สำเร็จ เป็นภารกิจที่สำคัญของชีวิตทุกกลุ่มอายุ จะช่วยนำพาสิ่งที่ดีที่สุดภายในตัวเราออกมาใช้ประโยชน์ สร้างความสำเร็จและความภาคภูมิใจ จุดแข็งจัดเป็นคุณลักษณะด้านดีของบุคคล เช่นความอดทน ความอยากรู้อยากเห็น เป็นต้น ส่วนความถนัดเป็นความสามารถเฉพาะด้าน เช่นถนัดทางดนตรี การคิดวิเคราะห์ การใช้ภาษา เป็นต้น ส่วนศักยภาพภายใน เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน หากเป็นพ่อแม่ การมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกก็คือการช่วยเขาค้นพบตัวเอง ค้นพบจุดแข็ง ความถนัดและศักยภาพ เพื่อวางแผนชีวิตที่ดี เป็นหลักประกันความสุขที่ยั่งยืนในอนาคต
3.ฝึกการหายใจคลายเครียด ทำทุกครั้งเมื่อเจอปัญหาหรือรู้สึกตึงเครียด จะทำให้การคิดแก้ปัญหาต่างๆ ดีขึ้น มีหลักง่ายๆ 3 ข้อ คือการหายใจสบายๆอย่างเป็นธรรมชาติ แต่หายใจออกให้ยาวขึ้นโดยรู้ตัว การหายใจออกให้ยาวกว่าการหายใจเข้า ประมาณ 2 เท่า เช่นนับเลข 1-2-3-4 เมื่อหายใจเข้า และกลั้นไว้ จากนั้นนับเลข 1-2-3-4-5-6-7-8 เมื่อหายใจออก และการหายใจโดยวางความรู้สึกไว้ที่ท้องขณะหายใจออก จะรับรู้ได้ว่าท้องแฟบ
4.คิดทบทวนสิ่งดีๆในชีวิตและฝึกมองโลกในแง่ดี เป็นการฝึกฝนตัวเองให้รู้จักมองเห็นสิ่งดีที่เกื้อหนุนชีวิต ช่วยให้มีกำลังใจและมีความสุข ควรทำเป็นประจำ ด้วยการตั้งคำถามตัวเองว่าวันนี้ /สัปดาห์นี้มีสิ่งดีๆอะไรเกิดขึ้นบ้างอย่างน้อย 5 เรื่อง ส่วนการฝึกมองโลกในแง่ดี จะช่วยให้เรามองเห็นปัญหาและเห็นโอกาสที่แฝงมากับปัญหา ช่วยให้เราเข้าใจชีวิตมากขึ้น โดยให้ตั้งคำถามเมื่อพบปัญหาว่า ปัญหานี้มีแง่ดีอะไรบ้าง พยายามเปิดใจรับความคิดใหม่ๆ ที่ช่วยเรามองเห็นบทเรียนชีวิตที่ได้จากปัญหา
5.บริหารเวลาให้สมดุลระหว่างการงาน สุขภาพและครอบครัว การงานเปิดโอกาสให้เราใช้ศักยภาพ สร้างความสำเร็จ สร้างรายได้ มีสังคม มีเพื่อน ส่วนสุขภาพทั้งกายและจิตใจ เป็นทุนสำคัญของชีวิต หากเจ็บป่วยเราก็จะไม่มีความสุข และครอบครัวเป็นแหล่งกำลังใจและความสุขที่สำคัญในชีวิตคนเรา ควรวางแผนใช้เวลาให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้ความสำคัญ เพิ่มเวลาให้กับเรื่องที่มีความสำคัญ ลดเวลาในเรื่องที่ไม่สำคัญหรือสำคัญน้อยกว่า
6.คิดและจัดการปัญหาเชิงรุกด้วยสติและปัญญา ไม่ปล่อยให้ปัญหาต่างๆที่เข้ามากำหนดความเป็นไปของชีวิต ควรจัดเวลาทำความเข้าใจยอมรับปัญหาและคิดหาทางเลือกในการก้าวเดินอย่างเป็นขั้นตอน จะช่วยให้เกิดความรู้สึกว่าเรายังตัดสินใจเรื่องต่างๆได้ จัดการชีวิตได้ ไม่เสียเวลาไปกับการคิดกังวลเกินควร
7.มองหาโอกาสในการมอบสิ่งดีๆให้ผู้อื่นเป็นการสร้างความสุขใจที่ลึกซึ้ง เมื่อเราช่วยผู้อื่นให้เป็นสุข ตัวเราเองก็มีความสุขไปด้วย กิจกรรมที่เป็นแหล่งความสุขอย่างดีคือกิจกรรมอาสาสมัคร มีงานวิจัยพบว่าคนที่ช่วยเหลือผู้อื่น จะมีชีวิตยืนยาวขึ้น
8.ศึกษาและปฏิบัติตามหลักคำสอนศาสนาจะได้รับประโยชน์คือมีสังคม มีจุดหมายทำสิ่งต่างๆมากขึ้น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงเช่น ดื่มสุรา ใช้สารเสพติด และเข้าใจชีวิต มีความพอใจชีวิต มีอารมณ์ดีกว่า ส่งผลให้อัตราการหย่าร้างต่ำกว่า และมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าผู้ที่ไม่สนใจคำสอนศาสนา อีกทั้งยังช่วยบ่มเพาะความเมตตากรุณาในใจด้วย
9.ให้เวลาและทำกิจกรรมความสุขร่วมกับสมาชิกในครอบครัวเป็นประจำ ควรยอมรับข้อจำกัดซึ่งกันและกัน ฝึกรับฟังอย่างใส่ใจลดเวลาดูทีวีลงและจัดเวลาทำกิจกรรมร่วมกันช่วยกันทำงานบ้าน อย่าให้ความสำคัญเงินทองและวัตถุมากเกินไปอย่าตำหนิลูกในทุกความผิดพลาด
และ10. ชื่นชมคนรอบข้างอย่างจริงใจ เป็นการฝึกจิตใจมองเห็นด้านดีของมนุษย์มองเห็นสิ่งดีในชีวิต กล่าวคำชื่นชมด้วยความจริงใจทุกครั้งที่มีโอกาส คำชื่นชมของเราจะเพิ่มกำลังใจ เติมความสุขและเสริมให้เขาทำสิ่งดีๆยิ่งขึ้นและฝึกการชื่นชมตัวเองด้วย
“ในแต่ละบัญญัติมีประโยชน์ในการเติมความสุขในแง่มุมที่ต่างกัน วิธีการปฏิบัติอาจเลือกปฏิบัติตามบัญญัติที่รู้สึกว่าเหมาะกับตนเองหรือเลือกบัญญัติที่ยังไม่คุ้นเคยก่อน เพื่อเรียนรู้และเติมสุขในรูปแบบใหม่ๆ แล้วจึงขยายผลไปเรื่อยๆ จนครบ10 ประการจะเกิดผลดีอย่างมากในการเสริม สร้างให้ตนเองมีสุขภาพจิตดีและเมื่อสุขภาพจิตดีสุขภาพกายจะดีตามไปด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว .-สำนักข่าวไทย