กรุงเทพฯ 2 ม.ค.- กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง 4 โครงการ มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 129,000 ไร่ และยังช่วยบรรเทา ลดปัญหาภัยแล้ง
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กรมชลประทาน ดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม ในเขตจ.พิษณุโลกและจ.สุโขทัย เพิ่มเติม ตามแผนงานเร่งด่วนที่กรมชลประทานได้นำเสนอให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณา ในการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการขยายผลพื้นที่ลุ่มต่ำในโครงการบางระกำโมเดล 60 โครงการคลองชักน้ำฝั่งขวาแม่น้ำยม (คลองสุชน-คลองตะโม่-แก้มลิง) พร้อมอาคารประกอบ ระยะที่ 2 โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่านางงาม ในพื้นที่ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และโครงการประตูระบายน้ำท่าแห บ้านท่าแห ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร
กรมชลประทาน มั่นใจว่า หากโครงการที่ ดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมตอนล่าง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้คลองธรรมชาติต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยม มีปริมาณน้ำต้นทุนไว้ใช้ในฤดูเพาะปลูก มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ 129,000 ไร่ และยังช่วยบรรเทา ลดปัญหาภัยแล้ง ประหยัดงบประมาณของภาครัฐ ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านเกษตร และงบประมาณในการป้องกันอุทกภัยได้เป็นอย่างมาก เพราะโครงการที่จะดำเนินการช่วยให้สามารถผันน้ำจากแม่น้ำยมเข้าสู่แก้มลิงทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ บึงระมาณ บึงตะเคร็ง และ บึงขี้แร้ง ในช่วงฤดูน้ำหลากได้โดยตรง เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับเกษตรกรในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 31 ล้าน ลบ.ม. และเก็บกักน้ำในลำน้ำยม และลำน้ำสาขา เหนือประตูระบายน้ำท่านางงาม ได้อีกประมาณ 15 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงยังช่วยชะลอการระบายน้ำ ลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในช่วงฤดูน้ำหลากได้อีก
โครงการขยายผลพื้นที่ลุ่มต่ำในโครงการบางระกำโมเดล 60 จากเดิม 265,000 ไร่ เพิ่มขึ้นอีก 117,000 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 382,000 ไร่ ทำให้สามารถรองรับน้ำหลากได้ จากเดิม 400 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มขึ้นอีก 150 ล้าน ลบ.ม. รวมปริมาณน้ำที่รับได้ 550 ล้าน ลบ.ม โดยเป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตโครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน 85,000 ไร่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล 20,000 ไร่ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวรอีก 12,000 ไร่ ช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในช่วงฤดูน้ำหลากได้เป็นอย่างมาก
โครงการคลองชักน้ำฝั่งขวาแม่น้ำยม (คลองสุชน-คลองตะโม่-แก้มลิง) พร้อมอาคารประกอบ ระยะที่ 2 เป็นโครงการที่จะช่วยนำน้ำจากแม่น้ำยมขึ้นมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำยม รวมทั้งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับ แก้มลิงคลองธรรมชาติในเขต อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และอ.บางระกำ จ.พิษณุโลก รวมไปถึงแก้มลิงขนาดใหญ่ ได้แก่ แก้มลิงบึงตะเคร็ง, แก้มลิงบึงขี้แร้ง และแก้มลิงบึงระมาณ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ประตูระบายน้ำบ้านวังสะตือ ต.ดงเดือย อ.กงไกรลาศ ชักน้ำผ่าน 6 ตำบลในเขต ต.กง อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และ ต.คุยม่วง, ต.ชุมแสงสงคราม, ต.บึงกอก, ต.บางระกำ ต.ปลักแรด อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ความยาวคลองทั้งสิ้น 76.70 กิโลเมตร
โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำท่านางงาม ในพื้นที่ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กบานระบายชนิดบานโค้ง ขนาด 12.50 x 8.00 เมตร จำนวน 5 ช่อง สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำยมได้ประมาณ 8.24 ล้านลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 52,875 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ต.ท่านางงาม ต.ชุมแสงสงคราม ต.คุยม่วง ต.บางระกำ ต.บึงกอก อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งของพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำยม ในเขตอำเภอบางระกำได้บางส่วน
โครงการประตูระบายน้ำท่าแห บ้านท่าแห ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก บานระบายชนิดบานตรง มีช่องระบายน้ำ กว้าง 10 เมตร สูง 9 เมตร จำนวน 4 ช่อง สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำยมและลำน้ำสาขาที่อยู่ในระยะทดน้ำ ได้ความจุประมาณ 16.75 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำให้ราษฎรสามารถนำไปใช้ในการเพาะปลูกพืช โดยการสูบน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรของตนได้โดยตรง พื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 10,000 ไร่ ส่วนในฤดูฝนจะทำให้การบริหารจัดการน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัย ด้วยการช่วยทดน้ำและผันน้ำจากแม่น้ำยมลงสู่แม่น้ำน่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ-สำนักข่าวไทย