กรุงเทพฯ 28 ธ.ค. – ท่าอากาศสุวรรณภูมิชี้แจงกรณีเด็กน้อยพร้อมครอบครัวชาวซิมบับเวเดินทางกลับประเทศไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบภายในประเทศ ทำให้ต้องติดค้างอยู่ในสนามบินนาน 3 เดือน
นายกิตติพงษ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศสุวรรณภูมิ สายปฏิบัติการ 1 และนางฉฎาณิศา ชำนาญเวช รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สายปฏิบัติการ 2 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเดินทางเข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว จากการตรวจสอบพบกลุ่มครอบครัวชาวซิมบับเว ประกอบด้วยผู้ใหญ่ 4 คน เป็นชาย 2 หญิง 2 และเด็กอีก 4 คน เป็นเด็กชาย 3 เด็กหญิง 1 คน อายุตั้งแต่ 2 , 6 , 7 และ 11 ขวบ ที่อยู่ในการดูแลของสายการบินภายในเขตอาคารผู้โดยสารชั้นในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นายกิตติพงษ์ เปิดเผยว่า ครอบครัวชาวซิมบับเวที่พบเป็นบุคคลที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ต่อมาขอเดินทางออกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2560 ด้วยสายการบินยูเครนเพื่อเดินทางไปเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ซึ่งต้องแวะเปลี่ยนเครื่องที่เมืองเคียฟ ประเทศยูเครน แต่จากการตรวจสอบสายการบินดังกล่าว พบว่าผู้โดยสารกลุ่มนี้ไม่มีวีซ่าเข้าประเทศสเปน จึงปฏิเสธการขึ้นเครื่อง และให้เจ้าหน้าที่ของสายการบินพาคนต่างชาติกลุ่มนี้มาพบเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองเพื่อยกเลิกการเดินทาง แต่จากการตรวจสอบประวัติ พบว่า บุคคลกลุ่มดังกล่าวมีสถานะอยู่ในประเทศไทยเกินกำหนดถึง 5 เดือน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินคดีและเปรียบเทียบปรับไปแล้ว แต่ไม่สามารถอนุญาตให้กลับเข้าประเทศได้ จึงได้ดำเนินการตามกฎหมายคนเข้าเมือง โดยให้สายการบินยูเครนรับตัวผู้โดยสารกลุ่มดังกล่าวกลับประเทศซิมบับเวซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด แต่ปรากฏว่าผู้โดยสารกลุ่มนี้ไม่ยินยอมเดินทางกลับซิมบับเว เนื่องจากเกรงอันตรายจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศ ต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน ผู้โดยสารกลุ่มนี้ซื้อตั๋วเดินทางไปประเทศมอนนิโทเรีย โดยผ่านประเทศยูเครน-สเปน-มอนนิโทเรีย แต่เมื่อผู้โดยสารกลุ่มนี้ขึ้นเครื่องจากสุวรรณภูมิไปถึงประเทศยูเครนแล้ว ไม่สามารถเดินทางต่อจากประเทศยูเครนไปยังสเปนได้ วันที่ 13 พฤศจิกายน ผู้โดยสารกลุ่มนี้จึงถูกส่งตัวจากยูเครนมายังสนามบินสุวรรณภูมิ โดยกลุ่มผู้โดยสารนี้ยังคงอยู่ในการดูแลของสายการบิน จากนั้นผู้โดยสารได้ยื่นเรื่องขอลี้ภัยไปยังยูเอ็นและทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้รับสำเนาหนังสือของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติถึงอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ มีใจความสำคัญสรุปว่า กลุ่มชาวต่างชาติดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้รับการลงทะเบียนผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและมีความเสี่ยงประสบภัยในประเทศมาตุภูมิ ซึ่งทางยูเอ็นกำลังดำเนินการในขั้นตอนผู้ลี้ภัย โดยยังคงอยู่ในการดูแลของสายการบินเยี่ยงผู้โดยสารปกติและไม่ได้ควบคุมในห้อง Detention room ของสายการบินเช่นเดียวกับชาวต่างชาติที่ถูกปฏิเสธผลักดันกลับประเทศแต่อย่างใด และจากการติดตามความคืบหน้า ทราบว่ายูเอ็นส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล สัมภาษณ์ เพื่อดำเนินการตามกระบวนการผู้ลี้ภัย โดยคงจะมีการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักมนุษยธรรมต่อไป.-สำนักข่าวไทย