กรุงเทพฯ28 ธ.ค. – ปตท.ขยายฐานการค้าไปทั่วโลกทั้งเทรดน้ำมันและปิโตรเคมี หวังเพิ่มรายได้และจัดหาสร้างความมั่นคงแก่ประเทศหากเกิดวิกฤติพลังงาน พร้อมเจาะตลาดใหม่อินเดีย ตั้งเป้าเทรดดิ้ง out-out มีธุรกิจเพิ่มเป็นร้อยละ 50
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.อยู่ระหว่างเร่งขยายธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศทั้งน้ำมันและปิโตรเคมี ซึ่ง ปตท.จะค้าปิโตรเคมีขั้นต้นหรือวัตถุดิบ ส่วนเม็ดพลาสติกบริษัทในเครือจะเป็นผู้ดำเนินการ ปัจจุบัน ปตท.ตั้งสำงานการค้าในสิงคโปร์, ลอนดอนของอังกฤษ, ดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ไทย, จีน และอินโดนีเซีย ส่วนในอินเดียแม้จะยังไม่มีสำนักงานแต่ได้ดูลู่ทางการค้า เพราะอินเดียนับเป็นแหล่ง supply ปิโตรเคมีของธุรกรรมเทรดดิ้งจำนวนมาก โดยเป็นการซื้อมาเพื่อนำเข้าไปขายยังตลาดในยุโรป ตะวันออกกลาง และยังมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่จากสหรัฐ เพื่อนำเข้ามาทำตลาดในเอเชียด้วย
สำหรับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (เทรดดิ้ง) มีทั้งประเภท out-out เป็นการซื้อมาขายไปภายนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนปริมาณธุรกรรมเป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่มีอยู่ร้อยละ 40 อย่างขณะที่สัดส่วนการธุรกรรมประเภท in-out ซึ่งเป็นนำผลผลิตในประเทศส่งไปขายต่างประเทศ และ out-in ซึ่งเป็นการนำผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเข้ามาขายภายในประเทศนั้น ปัจจุบันมีสัดส่วนปริมาณธุรกรรมประมาณร้อยละ 60 และจะลดลงเหลือประมาณร้อยละ 50 ในปี 2563
โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค-ก.ย.60) มีปริมาณธุรกรรมเทรดดิ้งการค้าระหว่างประเทศประมาณ 1.3 ล้านบาร์เรล และคาดว่าปี 2565 จะเพิ่มเป็น 1.7 ล้านบาร์เรล คาดว่าธุรกรรม out-out จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 52 ส่วนที่เหลือเป็นธุกรรม in-out และ out-in
“การเพิ่ม out-out จะเพิ่มความมั่นคง ต้องมีเครือข่ายค้าขายทั่วโลก เพื่อเข้าถึงแหล่ง supply ของน้ำมัน หรือพลังงานใด ๆ ก็ตาม การขยายในประเทศ in-out หรือ out-in มัน limit โดย out-in ขึ้นอยู่กับบ้านเราใช้แค่ไหน บ้านเราใช้ก็จะโตไม่เยอะ ส่วน in-out ขึ้นอยู่กับว่าบ้านเราผลิตได้แค่ไหน กำลังผลิตใหม่ ๆ ก็ยังไม่มี เทรดดิ้งจะโต คือ out-out ซึ่งต้องไปหาแหล่งต่างประเทศ การที่ไปหาแหล่งต่างประเทศ ทำให้มีเครือข่ายเยอะ ๆ เวลาเกิดวิกฤติพลังงานเทรดดิ้งจะเป็นฮีโร่ในการนำเอาพลังงานจากเครือข่ายที่ติดต่อมา” นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล ยังกล่าวถึงแผนดำเนินงานของธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายของกลุ่ม ปตท. ประกอบด้วยธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (ปี 61-65) จะมีทั้งการแสวงหาการลงทุนใหม่และเดินหน้าโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต (productivity improvement) ซึ่งแต่ละบริษัทในกลุ่ม ปตท.จะดำเนินการผ่านแผนงานที่ประกาศไว้ เช่น EVEREST ของ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ที่มีเป้าหมายจะสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2561 , MAX ของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ที่จะสร้าง EBIT ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2562 และ ORCHESTRA ของบมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีเป้าหมาย 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2561 เป็นต้น. -สำนักข่าวไทย