นครราชสีมา 27 ธ.ค.-ช่วงปลายปีอากาศเย็นสบาย ทำให้นักท่องเที่ยวนิยมไปพักในอุทยานแห่งชาติจำนวนมาก และมีขยะเหลือทิ้ง โดยเฉพาะพลาสติกและถุงขนม ซึ่งส่งผลกระทบกับสัตว์ป่าบางตัวต้องตาย เนื่องจากกินเศษขยะเหล่านี้เข้าไป แล้วไม่สามารถขับถ่ายออกมาได้
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ผืนป่าอนุรักษ์ที่ยังคงมีความสมบูรณ์สูง มีความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่า ทำให้ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักผ่อนตลอดทั้งปี
เมื่อมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น ปริมาณขยะก็มากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะช่วงฤดูท่องเที่ยวจะมีขยะในอุทยานแห่งชาติกว่า 12 ตัน/สัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นซองขนม ถุงและขวดพลาสติก แต่ที่เป็นปัญหาคือ ขยะเหลือทิ้งจากความมักง่าย ทำให้สัตว์ป่าหลงกินเป็นอาหาร
น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต สัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติฯ บอกว่า พฤติกรรมของสัตว์ป่ามีความเปลี่ยนแปลง หลงกินพลาสติกและซองขนม ด้วยมีเศษอาหารหลงเหลืออยู่ โดยเฉพาะโซเดียมในซองขนม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สัตว์ต่างๆ ต้องการ เช่น กวาง เมื่อกินเข้าไปแล้วไม่สามารถขย้อนถุงออกมาได้ ตกค้างในกระเพาะ จนส่งผลต่อสุขภาพ ถึงทำให้สัตว์เหล่านี้ตายลงในเวลาไม่นาน
หมอล็อต บอกอีกว่า สัตว์ขนาดใหญ่อย่างช้างป่า ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน หลายครั้งพบว่ามูลช้างมีเศษพลาสติกชิ้นใหญ่ติดออกมาด้วย บางตัวมีเลือดปนออกมา ด้วมคมจากถุงขนมบาดกระเพาะ หรือระบบขับถ่าย ทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อได้
“แนวคิดหนังช้าง” คือ การเพิ่มความถี่ของแหล่งอาหารสัตว์ป่า ทั้งทุ่งหญ้า โป่ง และแหล่งน้ำ กระจายทั่วป่า เพื่อให้สัตว์ป่าที่มีจำนวนมากขึ้นมีอาหารเพียงพอ จนรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องออกไปหากินจากที่อื่นอีก
ปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีถังขยะ ติดกรงมิดชิดป้องกันสัตว์กินเศษอาหาร และส่งรถจัดเก็บขยะเฉลี่ยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ก่อนนำไปกำจัดที่ อบต.หมูสี ส่วนร้านค้าจะไม่มีการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่าให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญคือจิตสำนึกของนักท่องเที่ยว ที่ต้องงดทิ้งหรือนำขยะทั้งหมดกลับออกมาจากพื้นที่ป่าทุกครั้ง.-สำนักข่าวไทย