รัฐสภา 25 ธ.ค.-สนช.ลงมติด้วยคะแนน 198 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 9 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (25 ธ.ค.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ วาระ 3 ซึ่งสมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้ลงมติเห็นชอบในทิศทางเดียวกัน ยกเว้นมตรา 178 ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญที่กรรมาธิการฯ ปรับแก้ว่า ให้กรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันอยู่ทำหน้าที่ต่อจนครบวาระ 9 ปี จากเดิมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดให้อยู่ต่อได้เฉพาะ ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ลงมติด้วยคะแนน 157 เสียง แต่มีจำนวน 26 คนลงมติไม่เห็นชอบ และงดออกเสียงจำนวน 29 คน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของ สนช.บางส่วน และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่มองว่าการปรับแก้ด้วยการยกเว้นไม่ให้นำคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ป.ป.ช.บางเรื่องมาบังคับใช้ อาจสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็นการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน กำหนดให้ผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมีอยู่ 8 ประเภท ไม่จำกัดเฉพาะ “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” อาทิ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด และนอกจากจะต้องยื่นของตนเองแล้ว ยังจะต้องยื่นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย โดยที่คู่สมรสดังกล่าวจะรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ส่วนคำนิยามหรือขอบเขตความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาจะเป็นอย่างไรให้ ป.ป.ช.เป็นผู้กำหนด
สำหรับประเด็นซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวาง เช่น มาตรา 37/1 ที่เพิ่มอำนาจพิเศษให้ ป.ป.ช.ล้วงข้อมูลส่วนตัวเชิงลึกของบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเข้าข่ายทุจริตและร่ำรวยผิดปกติ ทั้งการดักฟังโทรศัพท์ เจาะอีเมล์และตรวจสอบแชทไลน์ กรรมาธิการฯ เสียงข้างมากยอมตัดมาตราดังกล่าวออกไป หลังจากสมาชิก สนช.อภิปรายคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ทำลายล้างคู่ต่อสู้ทางการเมือง
จากนั้นที่ประชุม สนช.ได้ลงมติด้วยคะแนน 198 ต่อ 1 เห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วาระ 3 โดยมีผู้งดออกเสียง 7 คน และไม่ลงคะแนน 1 เสียง อย่างไรก็ตาม ภายหลัง สนช.ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว จะส่งให้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ให้ กรธ. และกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาว่าจะมีคำโต้แย้งกลับมาหรือไม่ภายใน 10 วัน ก่อนส่งให้ สนช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย
