กทท. 18 ธ.ค. – รมช.คมนาคมสั่งเดินหน้าท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เร่งขั้นตอน EIA คาดเปิดประมูลปี 61 รองรับปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านตู้ทียู
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายบริหารงานให้กับผู้บริหาร การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ระบุว่าการขนส่งสินค้าทางเรือถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากตัวเลขการขนส่งสินค้าทางน้ำขาออกผ่านท่าเรือต่าง ๆ อยู่ที่9 ล้านทียูต่อปี โดยเป็นปริมาณที่ท่าเรือกรุงเทพ 1.5 ล้านทียู และ 7 ล้านทียู เป็นการขนส่งสินค้าออกที่ท่าเรือแหลมฉบัง ดังนั้น ในอนาคตท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญในการรองรับสินค้า และเพื่อเชื่อมโยงโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยเป็นแผนภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ คาดหวังว่าท่าเทียบเรือแหลมฉบังจะสามารถเติบโตและเป็นท่าเทียบเรือที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากท่าเทียบเรือของประเทศสิงคโปร์ได้ ซึ่งปัจจุบันท่าเทียบเรือแหลมฉบังขณะนี้ยังอยู่อันดับที่ 3 รองจากท่าเทียบเรือของประเทศมาเลเซีย
นายไพรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้ กทท.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการเรื่องของรายละเอียด เพื่อจะก่อสร้างโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งได้กำชับให้เร่งดำเนินการตามแผนที่กำหนดให้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลโครงการประมาณปี 2561 เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้น หากการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะ 3 เสร็จจะสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้เกินกว่า 10 ล้านตู้ทียู
ส่วนท่าเรือกรุงเทพนั้น ได้กำหนดปริมาณการขนส่งสินค้าออกได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบีทียู เนื่องจากมีข้อจำกัดของพื้นที่เมือง ซึ่งในอนาคตกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจและเป็นเมืองสำหรับที่อยู่อาศัย โดยให้กทท.เตรียมทำแผนลดขนาดการขนส่งสินค้าผ่านหน้าท่าเรือลง เพื่อเป็นการลดภาระด้านการจราจร ทั้งนี้ ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ที่ว่างลงในการใช้กิจกรรมในส่วนอื่น หรืออาจจะทำเป็นพื้นที่สีเขียวเป็นปอดกรุงเทพฯ ก็ได้
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ กทท.ศึกษาท่าเรือชายฝั่ง โดยเป็นท่าเรือที่สร้างขึ้นโดยกรมเจ้าท่า (จท.) กว่า 10 ท่าเรือ ที่ผ่านมาพบปัญหาสร้างเรียบร้อยแต่ไม่สามารถเข้าไปบริหาร เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขระเบียบของกรมธนารักษ์ในการบริหารท่าเรือ ภายหลังได้ผู้บริหารท่าเรือแล้วจะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้กับกรมธนารักษ์ 50-50 จึงเป็นเหตุหาผู้สนใจบริหารลำบาก ทั้งนี้ มอบให้ กทท.พิจารณารายละเอียดดังกล่าวด้วยว่าจะสามารถรับท่าเรือชายฝั่งดังกล่าวมาบริหารได้หรือไม่ อย่างท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน ท่าเรือเชียงของ และท่าเรือระนอง ที่ กทท.บริหารอยู่ เพื่อส่งเสริมธุรกิจการค้าชายฝั่ง.-สำนักข่าวไทย