ตาก 12 ต.ค. – เขื่อนภูมิพล ยืนยันว่า จำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อน ถึงลุ่มแม่น้ำวัง มีน้ำใช้ และรักษาระบบนิเวศน์ แต่ได้ลดปริมาณการระบายน้ำลงให้น้อยที่สุด เหลือเพียงวันละ 500,000 – 1 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่มีผลต่อปัญหาน้ำท่วมในภาคกลาง
นายวรพจน์ วรพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนภูมิพล-ปฏิบัติการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทย ถึงสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคกลาง บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ว่า ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลยังคงปล่อยน้ำวันละไม่เกิน 1 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือบางวันลดลงเหลือเพียง 500,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งลดลงจากช่วงปลายเดือน ม.ค.ถึง พ.ค.ที่ระบายน้ำวันละกว่า 5 ล้านลูกบาศก์เมตร และช่วงเดือน มิ.ย.ถึง ก.ย.ที่ระบายน้ำวันละประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อนถึงช่วงเหนือลุ่มแม่น้ำวัง ยังมีน้ำใช้เพียงพอ และปริมาณน้ำที่ระบายออกขณะนี้ถือว่าน้อยมาก ไม่มีผลกระทบต่อปัญหาน้ำท่วมภาคกลางแต่อย่างใด
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล ขณะนี้ระดับน้ำอยู่ที่ประมาณ 231.42 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือมีปริมาณ 6,403 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 47 ของความจุอ่าง เป็นน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 2,603 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่มีปัญหาภัยแล้งประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้อยกว่าปี 2554 ที่มีปัญหาน้ำท่วมประมาณ 1,000 ล้านบาศก์ลูกบาศก์เมตร โดยเขื่อนภูมิพลยังคงรับน้ำได้อีกประมาณ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนแนวทางการบริหารจัดการน้ำในปี 2560 ยังต้องรอดูสถานการณ์น้ำถึงสิ้นเดือน ต.ค.นี้ แต่ได้ทำประมาณการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 7,576 ถึง 8,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ประมาณ 3,776 – 4,200 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 39-43 ของความจุอ่าง ซึ่งน่าจะมีโอกาสน้อยมากที่จะเกิดวิกฤตน้ำแล้งเหมือนปี 2558 และน่าจะเป็นปริมาณน้ำที่สามารถบริหารจัดการได้ไม่ยาก
นายวรพจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ มีรวมกัน กว่า 7,116 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากหมดฤดูฝนปริมาณน้ำใช้การได้ 2 เขื่อนรวมกันได้ถึง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเพียงพอสำหรับพื้นที่ทำนาปรังได้ประมาณ 6-8 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม กรณีภัยแล้งเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ต้องขอขอบคุณประชาชนและหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมมือกันรักษาวินัยการใช้น้ำอย่างจริงจัง รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน และการจัดโซนนิ่งปลูกพืช ช่วยให้รอดพ้นจากวิกฤตภัยแล้งมาได้ – สำนักข่าวไทย