กระบี่ 12 ต.ค. – นายธีรพงศ์ ตันติเพชรราภรณ์ กรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากภัยแล้ง ตั้งแต่ต้นปี 2559 และฝนตกหนักช่วงปลายปี ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตยางพาราของประเทศไทยภาพรวมปีนี้ลดลงร้อยละ 20 ของผลผลิตยางพาราในภาพรวมทั้งประเทศ จึงประเมินว่าตลอดปีนี้ผลผลิตยางพาราในภาพรวมจะเหลือเพียง 3.2 ล้านตันเท่านั้น จากเดิมประเทศไทยผลิตยางพาราได้ปีละประมาณ 4 ล้านตัน
นอกจากนี้ ผลจาก กยท.เน้นควบคุมการปลูกยางพาราให้มีปริมาณพอดีกับความต้องการของตลาดผ่านนโยบายปลูกทดแทน โดยให้เกษตรกรโค่นต้นยางเก่าที่มีอายุมากให้ผลผลิตน้ำยางน้อยเปลี่ยนไปปลูกยางพันธ์ดี หรือพืชที่มีค่าทางเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น ปาล์มน้ำมัน ไม้เศรษฐกิจอย่างอื่น และไม้ผล เป็นต้น พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ด้วยการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยางพารา ตลอดจนทำการประมงและปศุสัตว์ ส่งผลให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว
ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยยังมีนโยบายสนับสนุนให้มีการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น โดยปี 2559 ส่งเสริมให้หน่วยงานราชการใช้ยางพารารวม 100,000 ตัน และปี 2560 จะเพิ่มหน่วยงานราชการต่าง ๆ ให้ใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นอีก ขณะที่การผลักดันมาตรฐานถนนยางพาราที่มีชื่อเรียกว่า ถนนพารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์ ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) วิจัยและพัฒนาสำเร็จผ่านความร่วมมือของ 3 หน่วย และที่ผ่านมามีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มจพ. กยท.และสภาเกษตรกรแห่งชาติที่จะร่วมกันผลักดันให้ถนนพารารับเบอร์โพลีเมอร์ซอยซีเมนต์เป็นมาตรฐานถนนยางพาราต่อไป ทำให้มีการใช้ยางพาราทำถนนมากขึ้น และจากสภาพการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้แนวโน้มราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มลดลง คาดว่าราคายางพาราปีหน้าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม.- สำนักข่าวไทย