กรรมการสิทธิฯ เสนอความเห็น สนช.-ครม.แก้ร่างกฎหมายอีอีซี

กรุงเทพฯ 12 ธ.ค.-กรรมการสิทธิฯ เสนอความเห็น สนช.-ครม. แก้ร่างกฎหมายอีอีซี 3 มาตรา หลังพบขาดความมีส่วนร่วม กระทบสิทธิมนุษยชน ขัดรัฐธรรมนูญ


นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงว่า กสม.มีมติเสนอให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เนื่องจากเห็นว่ายังมีปัญหาในเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน และเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จึงควรมีการปรับปรุงแก้ไขใน 4 ประเด็น โดย 3 ประเด็นเป็นข้อเสนอที่จะส่งให้รัฐสภา และอีก 1 ประเด็นเสนอคณะรัฐมนตรี โดยจะทำหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ 

นายวัส กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอ 4 ข้อ  ประกอบด้วย 1.ในชั้นการพิจารณาของรัฐสภาควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบและผู้มีส่วนได้เสียจากร่างกฎหมายดังกล่าว ในระดับพื้นที่เพิ่มเติม รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิชาการและภาคประชาชนเสนอความเห็น ข้อกังวล เป็นรายมาตราอย่างกว้างขวางและทั่วถึงเพื่อประกอบการพิจารณาให้ครบถ้วนรอบด้าน 2.รัฐสภาควรพิจารณาแก้ไขมาตรา 36 ของร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งว่าด้วยเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากเป็นการเข้าใช้ประโยชน์เพื่อการอื่น นอกจากที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ควรดำเนินการเท่าที่จำเป็นและต้องดำเนินการด้วยวิธีการเพิกถอนที่ดินบริเวณนั้นจากการเป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย และชดเชยเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม และ 3.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37 , มาตรา 43 เพื่อเป็นหลักประกันว่าการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการอนุมัติ อนุญาต หรือการอื่น จะไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการนั้น


นายวัส กล่าวอีกว่า ส่วนข้อเสนอที่ 4.เสนอคณะรัฐมนตรีควรกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวม และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการจัดทำผังเมืองในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามคำสั่ง คสช.ที่ 2/2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงวันที่ 17 มกราคม 2560 ให้พิจารณาด้วยความระมัดระวัง โดยการดำเนินการต้องไม่กระะทบต่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและสอดคล้องกับหลักการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบสหประชาชาติ หลังปี 2558-2573 

นายวัส กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดประชุมรับฟังความเห็น และมีหนังสือสอบถามความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวรวม 7 ครั้ง แต่ช่องทางการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย หรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบตามกฎหมาย มีเพียงการรับฟังผ่านเว็บไซต์ของการนิมคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน 2560 มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นเพียง 4 คน ทั้ง ๆ ที่ร่างกฎหมายนี้จะต้องใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่มีประชาชนซึ่งมีความหลากหลายอาชีพอาศัยอยู่จำนวนมาก

“การเปิดรับฟังความเห็นดังกล่าว จึงอาจไม่กว้างขวางเพียงพอ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 43 ดังนั้นเมื่อร่างกฎหมายนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาวาระ 2 ของ สนช. หากนำข้อเสนอแนะของ กสม.ไปพิจารณา จะทำให้เกิดความรอบคอบ เป็นประโยชน์ต่อโครงการพัฒนาของรัฐ สร้างความยั่งยืนปราศจากความขัดแย้งจากทุกภาคส่วน และไม่กระทบต่อกระบวนการออกกฎหมาย เพราะ สนช.มีมติให้มีการขยายระยะเวลาการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ออกไปอีก 60 วัน ทั้งนี้หากนำข้อเสนอแนะไปแล้วไม่มีการปฏิบัติตาม กสม.ก็จะต้องนำข้อมูลออกมาเผยแพร่เพื่อฟ้องประชาชน” นายวัส กล่าว.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

ซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติฯ สุดตระการตา รับประเพณียี่เป็ง

ยามค่ำคืนในตัวเมืองเชียงใหม่ ประดับประดาด้วยแสงไฟรับประเพณียี่เป็ง หรือลอยกระทงเชียงใหม่ โดยเฉพาะบนถนนท่าแพ มีการสร้างซุ้มประดับไฟเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 14 ซุ้ม ยาวกว่า 200 เมตร.

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมรีดทรัพย์ รับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพื่อขายงาน

“ฟิล์ม รัฐภูมิ” ตั้งโต๊ะแจงปมเรียกรับเงิน 20 ล้านบาท จากดิไอคอน ยอมรับอ้างชื่อ “หนุ่ม กรรชัย” เพราะต้องการขายงาน

คุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง เจ้าตัวเงียบรีบเดินขึ้นรถตู้

ตำรวจกองปราบคุมตัว “ตี่ลี่ฮวงจุ้ย” ฝากขัง ผู้ต้องหาปัดตอบสื่อ ด้านพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนี