นักวิชาการชี้ปัญหารัฐธรรมนูญไทยคือประชาชนยังไม่มีส่วนร่วม

กรุงเทพฯ 10 ธ.ค.- นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชี้ ปัญหารัฐธรรมนูญไทยคือประชาชนยังไม่มีส่วนร่วม และการจัดดุลแห่งอำนาจในรัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์ ทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเพียงกล่องความฝันที่แก้ปัญหาการเมืองตามยุคสมัยเท่านั้น พร้อมระบุ ว่าที่ กกต.ชุดใหม่ไม่มีสัดส่วนประชาสังคม ทำให้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐได้ยาก


นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยเนื่องในวันรัฐธรรมนูญประจำปี 2560 ว่า ในระบอบประชาธิปไตย 85 ปี ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ เฉลี่ยระยะเวลาการบังคับใช้แต่ละฉบับอยู่ที่ประมาณ 4 ปี เมื่อพิจารณาถึงรัฐธรรมนูญทั้ง 20 ฉบับ จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1.รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับประชาชนซึ่งประกาศใช้ทันทีหลังการรัฐประหาร 9 ฉบับ ที่มีทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว หรือธรรมนูญการปกครองชั่วคราว และ 2.รัฐธรรมนูญที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน 11 ฉบับ เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากการร่างของสภาร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือการร่างโดยฝ่ายบริหารแล้วนำส่งให้สภาพิจารณา 

นายยุทธพร กล่าวว่า เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญทั้งสองกลุ่ม จะสะท้อนให้เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญที่สำคัญ 2 ประการ คือ ปัญหาแรก ปัญหาเรื่องความเป็นสถาบันทางการเมืองของรัฐธรรมนูญไทย เกิดขึ้นจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ประชาชนจึงไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วมในรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่ได้รู้สึกถึงความจำเป็นและไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญคือเครื่องมือในหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรม ดังนั้น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในระยะหลัง ทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นเครื่องมือในเชิงกลไกเทคนิคทางกฎหมาย ส่วนนักกฎหมายก็กลายเป็นนักเทคโนแครต หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญในการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ประชาชนไม่ได้อยู่ในกระบวนการเหล่านี้ เมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นกลไกมากกว่าหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญก็กลายเป็นกล่องความฝันของผู้คนในแต่ละยุค เป็นเรื่องของการนำปัญหาทางการเมืองไปใส่ในกล่องความฝันนี้ และกล่องนี้ก็สะท้อนออกมาในรูปแบบของรัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาทางการเมืองในยุคนั้นๆ แต่กลับนำมาสู่ปัญหาทางการเมืองในยุคต่อไป เช่น ก่อนปี 2540 ไทยมีรัฐบาลผสม และมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล สุดท้ายก็แก้ปัญหาด้วยรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจฝ่ายบริหารอย่างเข้มแข็ง แต่กลับทำให้การตรวจสอบไม่เข้มข้น จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีก นำมาสู่การแก้ปัญหาด้วยรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่แก้ปัญหาให้ฝ่ายบริหารถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น สุดท้ายมาตรการตรวจสอบต่างๆเหล่านั้น กลับเป็นอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาล ต่อมาเมื่อถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 เกิดขึ้นมาจากฝันร้ายทางการเมือง เกิดขึ้นจากสภาวะความขัดแย้งทางการเมืองในห้วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และสภาวะดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมาอีกจำนวนมาก จนเกิดการกล่าวโทษว่า นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เกิดขึ้นจากนักการเมืองและระบบการเลือกตั้ง จึงทำให้มีการลดทอนกระบวนการเลือกตั้ง มุ่งเน้นการตรวจสอบนักการเมืองอย่างเข้มข้น แต่ก็กระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชน 


นายยุทธพร กล่าวอีกว่า ปัญหาที่สองของรัฐธรรมนูญไทย คือ การจัดดุลแห่งอำนาจในรัฐธรรมนูญที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากสถาบันประชาธิปไตยไม่ใช่สถาบันแรกในสังคมทางการเมืองไทย ดุลแห่งอำนาจที่มีก่อนประชาธิปไตยจะเกิดขึ้น รัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถเข้าไปจัดการกับดุลแห่งอำนาจเหล่านั้นได้ดีพอ จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐราชการกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้เกิดจากปัญหาพื้นฐานของสังคมไทยที่ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาคของประชาชน รวมถึงหลักนิติธรรม นอกจากนี้ ในแง่ของสถาบันการเมืองในการเมืองไทย เช่น รัฐบาล รัฐสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้ง ไม่สามารถยกระดับให้เป็นสถาบันทางการเมืองได้อย่างครบถ้วน อีกทั้งสังคมการเมืองไทยยังมีความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์ มีปัญหาระบบพรรคพวก จนไม่สามารถสร้างสังคมทางการเมืองสมัยใหม่ให้เกิดขึ้นได้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้การเมืองในระบอบตัวแทนถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่ามีความชอบธรรมเพียงใด ดังนั้น ต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้ที่มาของรัฐธรรมนูญมีความผูกพันกับประชาชน 

นายยุทธพร กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีจุดแข็งคือ การตรวจสอบและป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น แต่รัฐธรรมนูญปราบโกงจะดำเนินการได้สำเร็จหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ปัญหาในเชิงรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่มีปัญหาในเชิงโครงสร้างด้วย เช่น ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ การรวมศูนย์อำนาจ หรือปัญหาการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่เป็นต้นตอของปัญหาคอร์รัปชั่นที่รัฐธรรมนูญเข้าไปแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้น จุดแข็งในส่วนนี้จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีจุดอ่อนคือ การเปลี่ยนแปลงกติกาในหลายส่วน ตั้งแต่เรื่องกระบวนการเข้าสู่อำนาจ การเลือกตั้ง การตรวจสอบ ซึ่งเป็นกติกาที่ประชาชนไม่ได้มีโอกาสเรียนรู้ และไม่ได้รู้สึกเป็นเจ้าของ แม้จะมีกลไกใหม่ แต่หากหลายฝ่ายไม่ยอมรับกติการ่วมกัน สุดท้ายจะกลับไปวังวนเดิมคือวังวนของความขัดแย้งที่รัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ปัญหาได้

นายยุทธพร กล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่า สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้กติกาใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงในหลายส่วน การเลือกตั้งจะออกมาดีได้ ต้องมีส่วนผสมที่สมดุลย์กัน ซึ่งขณะนี้ไม่เปิดให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและยังไม่เปิดให้พรรคการเมืองได้รับการปลดล๊อกทางการเมือง หากทั้งสองส่วนไม่ได้เตรียมความพร้อม การเลือกตั้งก็จะไม่มีประสิทธิภาพ เพราะขณะนี้มุ่งเน้นไปเพียงเรื่องเดียวคือ เรื่องผู้บริหารจัดการการเลือกตั้ง สุดท้ายการเลือกตั้งก็อาจกลับไปสู่ความขัดแย้งเช่นเดิม สำหรับรายชื่อว่าที่ กกต.ทั้ง 7 คน ส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย แต่ไม่เห็นภาคประชาสังคม ซึ่งต่างจาก กกต.ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ตอบสนองต่อภารกิจของ กกต.ครบทั้ง 5 ด้าน และหลักการสำคัญของกกต.ในเวลานั้น เกิดขึ้นจากการไม่ไว้วางใจภาครัฐ คือกระทรวงมหาดไทยจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างเป็นกลางหรือไม่ เมื่อมาถึง กกต.ชุดที่สองในรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็เกิดปัญหาเรื่องสัดส่วนของนักกฎหมายมาเกินไป มุ่งเน้นการตรวจสอบติดตามการเลือกตั้งมากเกินไปหรือไม่ ส่วน กกต.ปี 2556 ก็มีปัญหาที่ไม่เคยจัดการเลือกตั้งมาก่อน และเมื่อมาปีว่าที่ กกต.ชุดใหม่นี้ สัดส่วนของนักกฎหมายก็ยิ่งมีจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม สะท้อนให้เห็นว่า บทบาทภารกิจหน้าที่ของ กกต.ถูกลดทอนลงไป และยิ่งไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมมาตรวจสอบการเลือกตั้ง โอกาสที่จะได้การเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพคงเป็นไปได้ยาก เพราะเมี่อถึงช่วงระหว่างการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง การทุจริตจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากเจ้าหน้าที่รัฐ และภาคประชาสังคมจะมีหน้าที่ที่ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐได้ดี แต่วันนี้ เมื่อไม่มี กกต.จากส่วนนี้ การเลือกตั้งที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นไปได้ยาก.-สำนักข่าวไทย


ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

พ่อเลี้ยงล่วงละเมิด

“ต้นอ้อ” แฉพิรุธพ่อเลี้ยงปมคลิปเสียง-DNA ส่วนเด็กอาการดีขึ้น

“ต้นอ้อ” แฉพิรุธพ่อเลี้ยงปมคลิปเสียง-DNA เชื่อ แม่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แค่เชื่อผัวเพราะลูกเคยโกหก เผย ตอนแม่รู้ความจริงว่าใครทำลูกถึงกับร้องไห้โฮโผกอดลูก ส่วนเด็ก 10 ขวบอาการดีขึ้น แต่ต้องรักษาตัวอีกหลายสัปดาห์

งานแต่งธนกร

วิวาห์ชื่นมื่น “ธนกร-แคทลีน” คนดังการเมือง-นักธุรกิจ ร่วมยินดีครึกครื้น

งานวิวาห์ “ธนกร-แคทลีน” ชื่นมื่น คนดังการเมือง-นักธุรกิจ ร่วมยินดีครึกครื้น ด้าน “ทักษิณ” ไม่ได้มาร่วม แต่ส่งของขวัญแสดงความยินดี

ทรัมป์สั่งปลด

“ทรัมป์” สั่งปลดประธานคณะเสนาธิการร่วมตามแผนปรับปรุงกลาโหม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ออกคำสั่งในวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่นปลด พลอากาศเอก ซี. คิว. บราวน์ จูเนียร์ (Charles Quinton Brown Jr.) เป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐออกจากตำแหน่ง

ข่าวแนะนำ

งานแต่งธนกร

วิวาห์ชื่นมื่น “ธนกร-แคทลีน” คนดังการเมือง-นักธุรกิจ ร่วมยินดีครึกครื้น

งานวิวาห์ “ธนกร-แคทลีน” ชื่นมื่น คนดังการเมือง-นักธุรกิจ ร่วมยินดีครึกครื้น ด้าน “ทักษิณ” ไม่ได้มาร่วม แต่ส่งของขวัญแสดงความยินดี

ส่งชาวจีนกลับบ้าน

เสร็จสิ้นภารกิจส่ง 621 เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์กลับจีน

จบภารกิจส่งชาวจีนเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา รวม 3 วัน 13 เที่ยวบิน ส่งกลับชาวจีน 621 คน ที่เหลือต้องรอการเจรจา 3 ฝ่าย ไทย จีน และเมียนมา กำหนดแนวทางรับตัวอีกครั้ง

ทำบุญครบรอบแตงโมเสียชีวิต

เพื่อนสนิททำบุญครบรอบ 3 ปี “แตงโม” เสียชีวิต

กลุ่มเพื่อนสนิทของ “แตงโม ภัทรธิดา” นักแสดงสาวผู้ล่วงลับ จัดพิธีทำบุญครบรอบ 3 ปี การเสียชีวิตของนางเอกคนดัง ที่วัดปากน้ำ ซ.พิบูลสงคราม 1 อ.เมือง จ.นนทบุรี

ทรัมป์สั่งปลด

“ทรัมป์” สั่งปลดประธานคณะเสนาธิการร่วมตามแผนปรับปรุงกลาโหม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ออกคำสั่งในวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่นปลด พลอากาศเอก ซี. คิว. บราวน์ จูเนียร์ (Charles Quinton Brown Jr.) เป็นประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐออกจากตำแหน่ง