ชลบุรี 4 ธ.ค. – กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติร่วมกับผู้รับสัมปทานปิโตรเลียม ศึกษานำร่องการนำส่วนบนของแท่นหลุมผลิตไปจัดการบนฝั่ง นับเป็นการเดินหน้าตามแผนรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมในทะเลเป็นครั้งแรกของไทย
กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมกับ บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ดำเนินโครงการศึกษานำร่องการนำส่วนบนของแท่นหลุมผลิตไปจัดการบนฝั่ง ณ บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมเรื้อถอนแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม หลังหมดอายุสัมปทาน “แหล่งเอราวัณ -บงกช”ปี 2565-2566 รวมทั้งเป็นการศึกษาต้นทุนการรื้อถอนเพื่อประกอบการเปิดประมูลแล่งปิโตรเลียม
นายภูมี ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อรื้อถอนแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการปิโตรเลียมของประเทศ เห็นสมควรให้มีโครงการศึกษานำร่อง เพื่อให้ผู้รับสัมปทานได้ศึกษาเทคนิควิธีการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตที่เหมาะสมกับสภาพทะเลในอ่าวไทย การบริหารจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเสียจากการรื้อถอนที่เหมาะสม ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถด้านการรื้อถอนของผู้ประกอบการไทย
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กิจกรรมการรื้อถอนที่ผู้รับสัมปทานต้องดำเนินการตามกฎกระทรวงกำหนดแผนงาน ประมาณค่าใช้จ่าย และหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้พิจารณามอบหมายให้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และมีแผนจะดำเนินการรื้อถอนแท่นหลุมผลิตในปี 2562 เป็นผู้ดำเนินโครงการนำร่องในการนำส่วนบนของแท่นหลุมผลิต ไปจัดการบนฝั่ง ประกอบด้วยส่วนบนของแท่นหลุมผลิตยะลาเอ (YAWA) แท่นหลุมผลิตจักรวาลบี (JKWB)
แท่นหลุมผลิตฟูนานเอ็ม (FUWM) และแท่นหลุมผลิตฟูนานแอล (FUWL) ซึ่งเป็นแท่นหลุมผลิตในทะเลที่ได้หยุดการผลิต เนื่องจากไม่มีปริมาณสำรอง และไม่มีสมรรถนะเชิงพาณิชย์ของการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติม รวมทั้งไม่มีแผนการใช้งานในอนาคต
“ในขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าต้นทุนการรื้อถอนทั้งหมดจะเป็นเท่าใด หากรวมทั้งบงกช เอราวัณ อาจะเป็นแสนล้านบาท โดยการประเมินต้นทุนจะนำมาดูถึงการประเมินทรัพย์สินกรณีที่ฐานใดยังใช้งานได้ต่อเนื่องหลังหมดอายุสัมปทาน”นายวีระศักดิ์ กล่าว
ปัจจุบัน เชฟรอนฯได้เริ่มดำเนินการขนส่งส่วนบนของแท่นหลุมผลิตดังกล่าวมาบนฝั่งบริเวณจังหวัดชลบุรี และมอบหมายให้บริษัท เอสทีพี แอนด์ ไอ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้แยกชิ้นส่วนเพื่อดำเนินการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม และเมื่อการดำเนินงานแล้วเสร็จ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จะจัดทำรายงานการสิ้นสุดโครงการฯ เพื่อนำเสนอแก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต่อไป – สำนักข่าวไทย