นนทบุรี 1 ธ.ค. – พาณิชย์ระบุราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับสูงขึ้นและการปรับขึ้นของราคาบุหรี่ตามโครงสร้างภาษีสรรพาสามิต ส่งผลเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนสูงขึ้นร้อยละ 0.99 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือ อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายน 2560 ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.99 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 9 เดือน มาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมทั้งการทยอยปรับขึ้นของราคาบุหรี่ตามโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.08 แม้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารสด เช่น ผักสด ผลไม้ รวมถึงเนื้อสัตว์ ราคาจะเริ่มปรับตัวลดลง จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้นก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนของปีนี้ขยายตัวร้อยละ 0.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ในกรอบของปี 2560 ที่กระทรวงพาณิชย์คาดไว้ร้อยละ 0.4 – 1.0 หรือคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.7 ถือเป็นอัตราสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากปี 2559 ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.19 สะท้อนว่าประชาชนเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามแนวโน้มราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ได้มีการประเมินปี 2561 คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะยังปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ยน่าจะอยู่ในกรอบ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 33 – 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจีดีพี จะขยายตัวในกรอบร้อยละ 3.5 – 4 ทำให้ประมาณการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2561 จะสูงขึ้นเล็กน้อยระหว่าง 0.6 – 1.6 เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย