พระนครศรีอยุธยา 13 ต.ค.-หลัง คสช.ออกคำสั่งมาตรา 44 ในเรื่องมาตรการป้องกันนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้านเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา วันนี้ 3 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เริ่มเดินหน้าเจาะเลือดช้าง เพื่อนำไปวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอแล้ว
ทุลักทุเลกันพอสมควรกับการจับเจ้าแก้วช้างหนุ่มวัย 7 ปีให้อยู่นิ่ง เพื่อให้สัตวแพทย์เจาะเลือด เพื่อนำไปบันทึกข้อมูลรหัสพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ถือเป็นการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมปศุสัตว์ และกรมการปกครอง หลัง คสช. มีคำสั่งมาตรา 44 เรื่องมาตรการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิ์เป็นช้างบ้าน ที่ผ่านมาแนวคิดนี้เคยเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2548 แต่ก็ล้มเหลวไป เหตุที่ คสช.ลงมาจัดการเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาไทยถูกจับตาจากทั่วโลก เรื่องการเป็นตลาดค้างาช้างผิดกฎหมายอันดับต้นๆ ของโลก และยิ่งไทยเป็นสมาชิกไซเตส แต่กลับปล่อยปละเรื่องนี้ ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากนานาชาติเอาไปง่ายๆ
เริ่มนำร่องที่วังช้างอยุธยาแลเพนียด ซึ่งมีช้างในความดูแลกว่า 150 ตัว การเจาะเลือดเป็นไปด้วยดี กระทั่งเมื่อถึงคิวลูกช้างวัยเพียง 8 เดือน ที่นอกจากจะไม่ยอมแล้ว แม่ช้างยังมีอาการหวงลูก กลายเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องนำไปขบคิด เพื่อให้ทันกำหนด 180 วัน หลังคำสั่ง คสช.เมื่อ 28 กันยายนที่ผ่านมา ให้เจ้าของช้าง และปางช้างกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ จะต้องนำช้างบ้านที่มีกว่า 4,000 เชือก มาตรวจดีเอ็นเอ หากไม่นำช้างมาตรวจตามกำหนดให้ถือว่าช้างตกเป็นของแผ่นดิน
ด้านหมอล็อต สัตวแพทย์ชื่อดัง ยืนยันวิธีการตรวจดีเอ็นเอช้างจะเป็นผลดีในการพิสูจน์ช้างในบ้านเราว่าได้มาอย่างถูกต้องหรือไม่ ด้านเจ้าของช้างเชื่อเป็นแนวคิดที่ดี แต่นอกจากตรวจดีเอ็นเอแล้ว ยังต้องการเห็นการผลักดันกฎหมายช้างให้ออกมาเป็นรูปธรรม โดยคนช้างจริงๆ ไม่ใช่คิดทำให้เกิด แต่ผู้ควบคุมไม่มีความเชี่ยวชาญ
แม้เจ้าหน้าที่จะมีความมั่นใจว่าจะสามารถตรวจดีเอ็นเอช้างบ้านกว่า 4,000 เชือก ได้ทันกำหนด 180 วัน แต่กรมอุทยานแห่งชาติฯ เตรียมจะขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอขยายเวลาเพิ่มเติม และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นในปีหน้า ไทยจะต้องรายงานผลความคืบหน้าให้ไซเตสรับทราบเพื่อพิจารณาอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย