กรุงเทพฯ 30 พ.ย.-ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ย้ำภาวะหัวใจวายเฉียบพลันเกิดขึ้นได้กับทุกคน แนะรัฐบาลบรรจุหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในโรงเรียน เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต
นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการมาตรการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะหัวใจวายเฉียบพลันมักเป็นแบบฉุกเฉิน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคหัวใจ หรือคนปกติร่างกายแข็งแรง แต่ส่วนมากร้อยละ 70-80 เกิดในผู้ป่วยโรคหัวใจ ส่วนร้อยละ 20 เกิดจากสาเหตุอื่นที่มาจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช่น มีภาวะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตและไขมันสูง เครียด พักผ่อนน้อย มีภาวะอ้วนแต่เด็ก สูบบุหรี่ นอนกรนรุนแรง มีภาวะเหนื่อยจากการออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก จนหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ซึ่งโดยทั่วไปจะเต้นอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที โดยหากหัวใจเต้นเร็วสูงสุดเกิน 200 ครั้ง/นาที อาจทำให้เสี่ยงเกิดภาวะช็อกหมดสติ หัวใจหยุดเต้น หรือหัวใจวายเฉียบพลันได้
ฉะนั้นควรหมั่นสังเกตอาการ และตรวจร่างกายสม่ำเสมอ แต่ภาวะล้มหมดสติ คนไข้จะไม่ได้ทันตั้งตัว การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือการทำ CPR หรือ ปั๊มหัวใจตั้งแต่นาทีแรก จะมีโอกาสรอดชีวิตสูง พร้อมกับการแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อช่วยชีวิตได้อย่างทันท่วงที เพราะการปฐมพยาบาลปั๊มหัวใจภายใน 5 นาทีแรก มีโอกาสรอด 50:50
สำหรับการปั๊มหัวใจที่ถูกต้อง ต้องใช้มือประสานกัน ใช้สันมือกดกลางหน้าอก ให้สันมืออยู่บริเวณกลางหัวนมซ้ายขวา กดเต็มแรง 100 ครั้ง/นาที ทั้งนี้ สังคมไทย ควรมีการบรรจุหลักสูตรปฐมพยาบาลกู้ชีพในการเรียนการสอนพื้นฐานของนักเรียน เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต.-สำนักข่าวไทย