รัฐสภา 30 พ.ย. – สนช. รับหลักการ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ขณะที่ ประธาน กรธ. ยืนยันว่า การจัดทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับสุดท้าย เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับบทลงโทษที่เข้มขึ้น
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชิ (สนช.) เป็นประธานการประชุม สนช. วันนี้ (30 พ.ย.) พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้เสนอ โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ย้ำว่า การจัดทำร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้าย เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยได้รับฟังความเห็นจากประชาชนทั้ง 4 ภาค ผ่านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำ และการพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เป็นครั้งแรกที่เชิญเจ้าหน้าที่ กกต. มาร่วมพิจารณายกร่างตั้งแต่ต้น ซึ่งร่างกฎหมายลูกมีกติกาใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากกฎหมายลูกฉบับเดิม ยืนยันว่า กรธ. พยายามทำอย่างดีที่สุด
ทั้งนี้ สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ อภิปรายเห็นด้วย โดยเฉพาะเรื่องการกำหนดบทลงโทษเข้มขึ้น แต่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำบางส่วน เพราะอาจทำให้มีการตีความในลักษณะที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ พร้อมตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น อาทิ การให้กำหนดคำนิยามของเหตุจำเป็นอันมิอาจเลี่ยงได้ จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปพร้อมกันทั่วราชอาณาจักร การควบคุมดุลยพินิจของ กกต. ในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ รวมถึง บทกำหนดโทษเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง ที่ กรธ.ได้กำหนดไว้อย่างเข้มข้น
นายนรนิติ เศรษฐบุตร สมาชิก สนช. อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการให้อำนาจ กกต. สามารถพิจารณาให้มีการใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพราะอาจทำให้ กกต.นำเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่ง ยังเป็นห่วงเรื่องความไม่พร้อม ทั้งในส่วนของประชาชนและวิธีการ ที่อาจทำให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ จนมีการร้องให้ศาลตัดสิน โดยเห็นว่า ควรกำหนดให้เป็นวิธีการแก้ไขกฎหมายในอนาคตแทน
ขณะที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยอมรับว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดดังกล่าว เพราะกังวลว่า กกต.อาจพิจารณาใช้เครื่องลงคะแนนด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ทันที โดยที่ยังไม่มีการตรวจสอบถึงความพร้อม จนทำให้วิธีการลงคะแนนถูกเบี่ยงเบนไป จึงได้กำหนด 3 เงื่อนไขของการใช้เครื่องมือดังกล่าว คือ ต้องรับประกันการรักษาความลับของการลงคะแนน ต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการลงคะแนนในปัจจุบัน แต่การกำหนดให้ กกต.เป็นองค์กรอิสระ จึงมีความจำเป็นต้องไว้ใจ กกต.ด้วย
สุดท้าย ที่ประชุม สนช. ลงมติด้วยคะแนน 189 เสียง เห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยมีผู้งดออกเสียง 5 และไม่ลงคะแนน 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาจำนวน 33 คน ในเวลา 58 วัน โดยให้เวลาแปรญัตติภายใน 15 วัน โดยร่างกฎหมายลูกฉบับนี้ มีทั้งสิ้น 8 หมวด รวม 178 มาตรา .- สำนักข่าวไทย
