กรุงเทพฯ 29 พ.ย. – กระทรวงอุตฯ พร้อมปล่อยเงินกู้กองทุนประชารัฐรอบ 2 ถึงสิ้น ธ.ค.นี้ เตรียมงบ 320 ล้านบาท เร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ตั้งเป้า 5,000 ราย
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาทนั้น ความคืบหน้าล่าสุดตั้งแต่เปิดโครงการเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม 2560 มีการอนุมัติเงินกู้ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) กว่า 1,118 ราย วงเงินกว่า 4,423 ล้านบาท จากเอสเอ็มอียื่นคำขอสินเชื่อมากกว่า 4,000 ราย วงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาหลักเกณฑ์คุณสมบัติของโครงการมีเอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งที่คุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์การพิจารณา ทำให้ขณะนี้ทางกองทุนฯ ยังมีวงเงินเหลือให้เอสเอ็มอีที่ประสงค์จะยื่นคำขอสินเชื่อ คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐจึงมีมติขยายการเปิดรับการยื่นขอสินเชื่อออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2560
สำหรับปี 2561 เตรียมออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่องตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและยุทธศาสตร์จังหวัด ซึ่งขณะนี้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีแต่ละจังหวัด รวมถึงการออกคูปองสำหรับใช้บริการด้านต่าง ๆ อาทิ บริการปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ การใช้บริการ ศูนย์วิเคราะห์ วิจัย และทดสอบผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น ทั้งนี้ 2 กิจกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายให้เอสเอ็มอีใช้บริการ 5,000 ราย วงเงินทั้งสิ้น 320 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ
นอกจากนี้ ยังเตรียมแผนการใช้โมเดลศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (ITC) จากส่วนกลางที่เริ่มดำเนินการแล้ว เพื่อเป็นต้นแบบในการยกระดับงานบริการไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง นำไปใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เข้มแข็งระดับภูมิภาคต่อไป ขณะเดียวกันเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านมาให้คำปรึกษาแนะนำแก่เอสเอ็มอีเสมือนเป็นพี่เลี้ยง กว่า 20 บริษัท อาทิ เอสซีจี ปตท. เด็นโซ่ เดลต้า โตโยต้า ฮอนดา นิสสัน เป็นต้น นอกจากนี้ กรมฯ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ยังเตรียมสร้างกลไกเชื่อมโยง เพื่อส่งเสริม เอสเอ็มอีเข้าสู่ Digital Value Chai โดยพัฒนาแพลตฟอร์มรูปแบบเว็บไซต์ T-Good Tech ขึ้นมา เพื่อนำ เอสเอ็มอีแต่ละโครงการของรัฐ 5,000 ราย เข้าไปทำการเชื่อมโยงเป็นซัพพลายเชนกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ล่าสุดกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือ METI ได้มอบหมายให้องค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรม ภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ SMRJ ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประจำที่ไทย เพื่อช่วยจัดทำแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงเอสเอ็มอีของไทยกับไทยและในอนาคตจะเชื่อมไทยไปยังผู้ประกอบการของญี่ปุ่น รวมถึงเชื่อมไทยไปยังกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) .-สำนักข่าวไทย