เมืองทองธานี 29 พ.ย. – ผู้จัดงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 34 คาดตลอดการจัดงานจะมีผู้เข้าชม 1.5 ล้านคน ยอดจอง 40,000 คัน เงินสะพัดกว่า 50,000 ล้านบาท
นายชลัทชัย ปภัสร์พงษ์ รองประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ครั้งที่ 34 หรือ Thailand International Motor Expo 2017 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-11 ธ.ค.นี้ ชาเลนเจอร์ 1-3 เมืองทองธานี กล่าวว่า ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ยานยนต์ยุคใหม่ฝันไกลที่กลายเป็นจริง” ยานยนต์ไฟฟ้าจากผู้ผลิตรถโดยเฉพาะจากทวีปยุโรปนำรถยนต์ไฟฟ้ามาจัดแสดง ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าจากเอเชียมีรถจากญี่ปุน คือ นิสสัน ส่วนจีนก็มีมาแสดงเช่นกัน คือ ยี่ห้อ Rayttle ดังนั้น การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นอีกแรงเสริมหนึ่งของกำลังซื้อรถยนต์ในประเทศส่งท้ายปีไก่ โดยตลอดการจัดงาน 12 วัน คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานรวม 1.5 ล้านคน ยอดจองซื้อรถยนต์ภายในงานทั้งที่ผลิตในประเทศและรถยนต์นำเข้ารวม 40,000 คัน รวมกับรถบิ๊กไบค์อีกประมาณ 7,000 คัน เม็ดเงินสะพัดกว่า 50,000 ล้านบาท
นายชลัทชัย กล่าวว่า ปีนี้ราคารถยนต์เฉลี่ยต่อคันใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยปีที่ผ่านมาเฉลี่ยต่อคัน 900,000 – 1.1 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มที่เริ่มต้นซื้อรถโครงการรถคันแรก ซึ่งเป็นอีโคคาร์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มียอดซื้อค่อนข้างสูงเกินไปคนเหล่านี้จนถึงปัจจุบันยังไม่มีวงเงินพอที่จะเลือกซื้อหารถคันใหม่ที่ราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ เมื่อรวมกับยอดขายรถยนต์ในประเทศ 11 เดือนที่ผ่านมาปีนี้ที่มียอดขายสะสมรวมประมาณ 750,000- 770,000 คัน เชื่อว่าเป้าหมายยอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้ที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ตั้งไว้ 850,000 คัน จะบรรลุและอาจมียอดขายสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็เป็นได้ ภาพรวมยอดจองรถภายในงานคาดว่าจะเป็นรถเก๋งประมาณร้อยละ 70 อีกร้อยละ 30 เป็นรถปิคอัพ จากปกติตลาดรวมรถยนต์ในประเทศไทยจะมีสัดส่วนระหว่างรถยนต์นั่งและรถปิคอัพเท่า ๆ กัน ส่วนปัจจัยหลักที่ช่วยสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคเลือกซื้อรถยนต์คันใหม่ ได้แก่ บรรยากาศภาพรวมของประเทศที่มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพหลาย ๆ ด้าน อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจจาก การใช้จ่ายงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาครัฐ การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของต่างชาติที่ยังคงเพิ่มขึ้นปีนี้และต่อเนื่องปีหน้า
นายชลัทชัย กล่าวว่า การเดินหน้าโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อยากให้รัฐบาลมีนโยบายระยะยาวส่งเสริม เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องมายาวนานถึง 50 ปี การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในภาพรวมได้ โดยเห็นว่ารถปิคอัพและรถอีโคคาร์ยังไม่มีความจำเป็นที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นรถยนต์ไฟฟ้า สำหรับรถยนต์ที่ควรจะเป็นรถไฟฟ้าน่าจะเริ่มต้นจากกลุ่มรถพรีเมี่ยม เพื่อให้เวลาในการปรับตัวให้มีความพร้อมหลายด้านที่เกี่ยวข้อง
ด้านการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยตลอดปีนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.ปรับเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่จะผลิต 1.93 ล้านคัน เป็น 1.95 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5,583 คัน หรือเพียงร้อยละ 0.29 เท่านั้น ส่วนการส่งออกรถยนต์ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ที่ 1.1 ล้านคัน. – สำนักข่าวไทย